ทิศทางการดูแลผู้สูงอายุไทย รับมือคนแก่ล้นประเทศ


ทิศทางการดูแลผู้สูงอายุไทย รับมือคนแก่ล้นประเทศ

โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย


   กลายเป็นปัญหาระดับโลกเสียแล้ว สำหรับเรื่องคนแก่ล้นประเทศ ไม่เพียงแค่คนแก่เพิ่มจำนวนขึ้นเท่านั้น แต่จำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงอย่างน่าใจหาย

ประเทศไทยเองก็ไม่พ้นจากบ่วงปัญหานี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ อารมณ์ และความคิด

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการดูแลเรื่องนี้ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "การดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ" เนื่องจาก "ผู้สูงอายุ" เป็นวัยซึ่งมีสารพัดปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ ที่ต้องได้รับการดูแล

ยิ่งทุกวันนี้ "นวัตกรรมการแพทย์" ทำให้มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น จึงทำให้ประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เพราะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 10 แล้วตั้งแต่ปี 2548 และเพิ่มเป็นร้อยละ 10.4, 10.5 และ 10.7 ในปี 2548, 2549 และ 2550 ตามลำดับ โดยคาดว่าอัตราส่วนผู้สูงอายุจะทะยานถึง 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 15.28 ในปี 2563 นับเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในเวลาแค่ 20 ปีข้างหน้า

สาเหตุนี้มาจากอัตราการเกิดของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากช่วงปี 2507-2508 จากร้อยละ 47.2 เหลือแ! ค่ร้อยละ 10.9 ระหว่างปี 2548-2549 ขณะที่อัตราการตายไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด

สิ่งแรกที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจคือ เมื่อคนเราล่วงสู่วัยชรา ผู้สูงอายุเหล่านั้นจะประสบภาวะพึ่งพิงหลายด้าน คือ 1.ภาวะพึ่งพิงด้านความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (Activity Daily Living; ADL) ทั้งการอาบน้ำ แต่งตัว การรับประทานอาหาร การลุก-นั่ง การเคลื่อนที่ การใช้ส้วม และอาจรวมการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ โดย ADL จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกความต้องการการดูแลและการจัดบริการช่วยเหลือดูแลที่สังคมควรจัดให้มีขึ้น โดยภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

2.ภาวะพึ่งพิงด้านเศรษฐกิจ ที่จะเกี่ยวข้องกับปัญหาหลักประกันด้านรายได้ เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยสูงอายุจะไม่สามารถทำงานได้ หากมีเงินออมที่ดี มีเงินบำนาญรองรับก็จะมีปัญหาน้อย แต่ทว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหามากเพราะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

3.ภาวะพึ่งพิงด้านสุขภาพ เมื่ออายุมากสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายเสื่อมถอยลง ด้านจิตใจก็จะวิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า รวมถึงยังเสี่ยงป่วยเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กระทั่งมีโอกาสเกิดอัมพาตค่อนข้างสูง

4.ภาวะพึ่งพิงด้านสังคมและจิตใจ เนื่องจากผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงอาศัยลูกหลานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่ครอบครัวไทยเป็นครอบครัวเดี่ยว ครองตนเป็นโสดมากขึ้น และย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อประกอบอาชีพ กอปรกับอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น หรือได้รับการรักษาที่ยืดชีวิตให้อยู่ยาวนานขึ้น แต่กลับพ่วงความพิการมาด้วย จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุมีโอกาสถูกทอดทิ้งง่ายขึ้น

ซึ่งภาวะพึ่งพิงดังกล่าวมาแล้วนั้น มีด้วยกัน 3 ระดับ เพื่อการวางแผนการดูแลให้เหมาะสม จึงต้องหมั่นสังเกตให้ดีว่าผู้สูงอายุในความดูแลนั้นอยู่ในระดับใด

ระดับแรก คือ ภาวะปกติ (เขียว) ระดับที่สอง คือ ภาวะที่ช่วยตัวเองได้น้อยลง (เหลือง) และระดับสุดท้าย คือ ภาวะที่ช่วยตนเองไม่ได้จนถึงต้องนอนติดเตียง (แดง) โดยค่าใช้จ่ายในภาวะสุดท้ายของชีวิต (นอนติดเตียง) จะมีต้นทุนสูงสุด

ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของการดูแลระยะยาว คือ การยืดอายุการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุให้ได้ยาวนานที่สุด โดยจัดให้มีหลักประกันด้านการดูแลสุขภาพและรายได้ ดังนี้

1.การจัดระบบการดูและระยะยาวในระดับ! สถาบัน ช ุมชน และครอบครัว โดยการส่งเสริมป้องกันโรค หรือให้เป็นโรคช้าลง ตลอดจนการดูแลรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ประกอบด้วย

การจัดระบบการดูแลระยะยาวในสถานบริการจะต้องมีการประสานเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ เพราะปัจจุบันยังพบปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกรณีบ้านพักคนชราที่มีอยู่แค่ 13 แห่งทั่วประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น เนื่องจากจะกำหนดให้ผู้เข้าพักต้องอยู่ในภาวะที่พึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้สูงอายุต่างท้องถิ่นที่ไม่สามารถเข้ารับบริการได้และไม่มีบ้านพักคนชราในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัย ยิ่งกว่านั้นยังต้องมีการจัดระบบมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีของสถานบริการผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนธุรกิจการจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุตามบ้านด้วย

การจัดระบบการดูแลระยะยาวในระดับชุมชนและครอบครัว เช่น การจัดตั้งศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน การใช้วัดเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้สูงอายุ เพราะจะเป็นการใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงจัดให้มีอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน (อสส.) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการนำร่องร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ

การจัดระบบการเชื่อมประสานงานระหว่างชุมชนกับสถานบริการ เช่น ระบบส่งต่อจากสถานบริการให้กับชุมชนนั้นจำเป็นต้องมีกระบวนการอบรมพักฟื้นผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติตนในการช่วยเหลือตนเองได้อย่างดีที่สุดเพื่อลดภาระของผู้ดูแลต่อไป

2.ส่งเสริมการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานได้ดี อันจะส่งผลดีทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะนอกจากงานคือชีวิตแล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนเพิ่มการออม (Saving) ให้กับผู้สูงอายุด้วย โดยพิจารณาปรับอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 65 ปี กำหนดลักษณะงานที่เหมาะสม หรืออาชีพสงวนสำหรับผู้สูงอายุ และจัดฝึกอบรมเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีทางเลือกในการทำงานที่เหมาะสมกับวัยของตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังต้องจัดให้มีระบบ Home Health Care เพื่อประสานงานร่วมกับอาสาสมัครเยี่ยมบ้านอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดระเบียบกฎหมายและมาตรฐานปฏิบัติต่างๆ

3จัดให้มีระบบการออมเพื่อการชราภาพหรือระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อผู้สูงอายทุกคนจะได้รับหลักประกันเงินขั้นต่ำเพื่อการยังชีพ เพราะถึงแม้รัฐบาลจะจ่ายเบี้ยยังชีพคนละ 500 บาท/เดือนให้กับผู้สูงอายุที่ยากไร้หรือช่วยตนเองไม่ได้ แต่ก็ไม่ครอบคลุม และเป็นภาระทางงบประมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งการรับเบี้ยยังชีพยังสร้างความรู้สึกการเป็นผู้ที่ถูกสงเคราะห์ ซึ่งจะแตกต่างจากการรับเงินในระบบบำนาญที่เป็นเงินออมของตนเองที่มีศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุมากกว่า

4.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในครัวเรือน สถานที่สาธารณะ และการคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุเพื่อจะได้มีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ในสังคมได้

เมื่อเราได้เรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติให้ได้ดังนี้ เชื่อแน่ว่าสังคมที่มีครอบครัวใหญ่แบบฉบับไทยๆเรานี้จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขแน่นอน

 

บทความโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
http://www.thainhf.org/index.php?module=article&page=detail&id=399