นาโนมาร์ค


นาโนมาร์ค

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

      ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบันคือ ไม่รู้ว่าสินค้านาโนที่โฆษณาเป็นนาโนจริงหรือไม่จริง หากรู้ว่าสินค้านั้นเป็นนาโนจริง จะได้รู้จักตั้งคำถามต่อไปว่าวัสดุขนาดนาโนในสินค้านั้น สามารถกระจายสู่สิ่งแวดล้อมและเป็นพิษต่อร่างกายหรือไม่

จะเห็นว่าเป็น 2 คำถาม ที่เกี่ยวเนื่องกันและเรายังไม่รู้วิธีหาคำตอบ ถ้าสินค้านั้นไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนาโนแต่โฆษณาว่าใช้ ผู้บริโภคก็ถูกหลอกลวง ซึ่งเป็นประเด็นจริยธรรมการค้า แต่ถ้ายังมีคำถามเรื่องความปลอดภัย ก็จะเป็นประเด็นจริยธรรมทางวิทยาศาสตร์

จึงเป็นภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ที่จะบอกแก่ประชาชนว่า สินค้านาโนมีประโยชน์สูงเหนือสินค้าอื่นอย่างไร ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างไร และดีต่อสังคมอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็อธิบายข้อจำกัดของนาโนเทคโนโลยีและข้อควรระวัง เช่นนี้จึงเป็นประเด็นจริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์

การพูดคุยกับประชาชนทำได้หลายวิธี เช่น จัดวงพูดคุยกับสื่อมวลชน หรือภาคประชาสังคมให้เข้าใจถึงข้อดีของเทคโนโลยีใหม่ และชวนกันเฝ้าระวังข้อจำกัดของเทคโนโลยีใหม่อย่างเปิดเผย สำหรับกรณีนาโนเทคโนโลยี ซึ่งทำนายว่าสามารถขจัดความยากจน และปัญหาทรัพยากรไม่พอเพียงสำหรับพลโลกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ถ้าเทคโนโลยีนี้ดีจริงก็ควรให้ทั้งสังคมได้ช่วยกันดูเพื่อประโยชน์แท้จริง ไม่ปล่อยให้สินค้านาโนบั่นทอน หรือเบี่ยงเบนประเด็นไปในทางลบอย่างน่าเสียดาย

กระทรวง Ministry of Economic Affair (MOE) ของไต้หวัน ให้สถาบัน Industry Technology Research Institute (ITRI) พัฒนาเครื่องหมายนาโนมาร์ค (NANOMARK) เพื่อรับรองสินค้าที่มีขนาดของวัสดุอย่างน้อยหนึ่งมิติที่มีขนาดนาโน พร้อมทั้งประกาศอย่างชัดเจนว่าคือเครื่องหมายรับรองขนาดเท่านั้น มิใช่เครื่องหมายรับรองความปลอดภัย ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยยังอยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ได้ข้อยุติ เช่นนี้จึงเป็นประเด็นจริยธรรมของภาครัฐ

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการติดสลากสินค้านาโน เพราะเกรงว่าประชาชนจะตีความเป็นสินค้ารับรองความปลอดภัย


บทความโดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
http://www.thainhf.org/index.php?module=article&page=detail&id=401