เตือนคุณแม่ให้นมลูก ระวังขาดสารอาหาร




คุณแม่รุ่นใหม่ทราบดีว่า นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้นและนานขึ้น อย่างน้อยทารกควรได้รับนมแม่เกิน 6 เดือนนะคะ และไม่ว่าจะเกิน 1 ขวบ นมแม่ก็ยังมีประโยชน์อยู่ค่ะ แต่ระยะให้นมบุตรร่างกายคุณแม่ต้องการสารอาหารบางอย่างในปริมาณที่มากกว่าช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้สารอาหารเพื่อผลิตน้ำนมให้ลูก

        กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ช่วงเวลาให้นมลูก คุณแม่มีความเสี่ยงขาดสารอาหาร เช่นแคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี เกือบร้อยละ 70 ของปริมาณที่ควรได้รับ และควรได้รับสารอาหาร ได้แก่ เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 2 เพิ่มอีกเท่าตัว ไม่เช่นนั้นจะบั่นทอนสุขภาพ แม่ และกระทบต่อศักยภาพในการเลี้ยงดูลูก การขาดสารอาหารบอกไม่ได้จากรูปร่าง แม่จำนวนมากขาดสารอาหารทั้งที่มีรูปร่างสมส่วนและกินอิ่มทุกมื้อ เพราะอาจได้พลังงานเพียงพอแต่ได้รับสารอาหารบางอย่างน้อยเกินไป สัญญาณเตือนที่จะรู้สึกได้คือ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เป็นตะคริว เจ็บลิ้น ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด ปรับการมองเห็นในที่มืดได้ช้า เป็นเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว ปากนกกระจอก เลือดออกตามไรฟัน แผลหายช้า เบื่ออาหาร และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่มองไม่เห็น เช่น โลหิตจาง และกระดูกพรุนในอนาคต

       แม่ให้นมบุตรควรได้รับวิตามินเอมากกว่าปกติร้อยละ 60 ด้วยการกินไข่วันละ 1 ฟอง ตับสัปดาห์ละ 1-2 ช้อนกินข้าว มะละกอสุก 200 กรัมต่อวัน ผักใบเขียวและแคลเซียมควรได้รับอย่างน้อย 800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปกติได้รับอยู่เพียงร้อยละ 30 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวันเท่านั้น จึงควรเสริมด้วยการดื่มนมจืดทั่ว ๆ ไปวันละ 2 แก้ว หรือพิจารณานมสูตรเฉพาะหรือแคลเซียมเม็ด



ที่มา http://women.thaiza.com