การเล่นบำบัด (Play Therapy) คืออะไร ?


การเล่นบำบัด (Play Therapy) คืออะไร ?

การเล่นบำบัด คือ การเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้านของเด็ก ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ

การเล่นบำบัดเป็นวิธีการส่งเสริมและพัฒนาเด็กอย่างเป็นธรรมชาติโดยใช้การเล่นเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้เด็กได้แสดงออกทางความคิด ความรู้สึกอย่างอิสระ ระบายปัญหาและความคับข้องใจผ่านการเล่น ซึ่งช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้และจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ส่งผลให้เด็กดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น 

ในการเล่นบำบัดนั้น นักบำบัดจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กรู้สึกปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว และได้รับการเอาใจใส่ การเล่นบำบัดเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ซึ่งช่วยส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งช่วยให้เด็กได้ค้นหา และพัฒนาศักยภาพในตัวเองได้อย่างเต็มความสามารถ

ใครที่เหมาะกับการเล่นบำบัด?
การเล่นบำบัดนั้นใช้ได้ทั้งในเด็กปกติและเด็กพิเศษเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะเด็กที่ประสบภาวะดังนี้

  •    ซึมเศร้า ไม่มีความสุข เครียด วิตกกังวล
  •    มีปัญหาด้านอารมณ์ หรือพฤติกรรม
  •    ปัญหาการสื่อสาร พูดช้า ไม่ยอมพูด
  •    พัฒนาการล่าช้า
  •    ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง
  •    ขี้อาย ขาดทักษะทางสังคม แยกตัว
  •    ความภาคภูมิใจในตนเองน้อย
  •    ถูกเพื่อนรังแก หรือรังแกเพื่อน
  •    ก้าวร้าว ใจร้อน โกรธ อิจฉา ทะเลาะวิวาท
  •    ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  •    ชอกช้ำจากการสูญเสีย ปัญหาความผูกพัน (attachment)
  •    มีการเล่นไม่เหมาะสม
  •    เจ็บป่วย พิการ
  •    เด็กสมาธิสั้น เด็กออกทิสติก
  •    ถูกทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ
แม้ว่าการเล่นบำบัดจะเหมาะกับเด็กโดยธรรมชาติ แต่ก็สามารถใช้ได้ในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีความยากลำบากในการสื่อสารโดยใช้คำพูด หรือผู้ใหญ่ที่มีความชอกช้ำในวัยเด็ก

ประโยชน์ของการเล่นบำบัด

การเล่นบำบัดเป็นสาขาหนึ่งในการบำบัดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีทฤษฎีทางจิตวิทยาและงานวิจัยสนับสนุนจำนวนมากรับรองประสิทธิผลของการเล่นบำบัด จากหลักฐานต่างๆ พบว่า เด็กส่วนมากที่ได้เข้าร่วมการเล่นบำบัดนั้นมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 
เด็กๆ มักสนุกสนานเพลิดเพลินกับการเล่น ซึ่งการเล่นบำบัดนั้นมีบรรยากาศที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย ช่วยให้เด็กสามารถระบายความเครียดความกังวล รวมทั้งช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านการเล่นได้ดี สำหรับเด็กแล้ว ของเล่นเป็นเสมือนโลกของเขา และการเล่นก็เป็นภาษาที่เด็กแสดงออกมา อาศัยการเล่นบำบัด เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเคารพตนเอง เข้าใจและยอมรับตนเอง ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น มีทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหาดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น


ลักษณะของการเล่นบำบัด
การเข้าร่วมการเล่นบำบัดใน 1 คาบ ใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที โดยมีความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ การเล่นบำบัดมีเทคนิกการเล่นหลายรูปแบบ รวมเรียกว่า ෳอุปกรณ์ในการเล่นบำบัด෴ (Play Therapy Tool Kit) การเลือกใช้อุปกรณ์ขึ้นอยู่กับความต้องการของเด็กและประโยชน์ที่เด็กจะได้รับสูงสุด อุปกรณ์ในการเล่นบำบัดประกอบด้วย

  •    นิทานบำบัด หรือเรื่องเล่าบำบัด
  •    การเล่นสมมติ
  •    หุ่นมือ (puppets)
  •    การเล่นทรายบำบัด (sandplay)
  •    ศิลปะ วาดรูป ระบายสี
  •    ดนตรี
  •    การเคลื่อนไหว และการเต้น
  •    การปั้น (clay)
  •    การใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยใช้จินตภาพ
        (creative visualisation)

นักเล่นบำบัด (Play Therapist)
พาเด็กเข้าสู่ห้องเล่นบำบัด (Play Therapy Room) ซึ่งคัดสรรของเล่นสำหรับการเล่นบำบัดโดยเฉพาะนักเล่นบำบัดเปิดโอกาสให้เด็กเลือกของเล่น ซึ่งช่วยให้เด็กได้แสดงความรู้สึก
ระบายปัญหาต่างๆ ของตนเอง รวมถึงได้เลือก และตัดสินใจหาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ตลอดระยะเวลาของการเล่นบำบัด ความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเด็กจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ซึ่งนักบำบัดจะสะท้อนความคิดความรู้สึกที่เด็กแสดงออกมา กลับไปสู่เด็กเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้น
หน้าที่สำคัญของนักเล่นบำบัดนั้น คือ เคารพในตัวตนของเด็กในแบบที่เด็กเป็น และใช้ทักษะการเล่นบำบัดช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความสบายใจ ผ่อนคลาย พัฒนาอารมณ์ทางบวก
พัฒนาการเห็นคุณค่าและความสามารถของตนเอง ทำให้เด็กมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเอง และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

ที่มา http://www.manarom.com/play_therapy.html