มีลูกยังสาวหรือเป็นแม่เมื่อพร้อม



มีลูกยังสาวหรือเป็นแม่เมื่อพร้อม????
 
 
แต่งงานแล้วมีลูกเลยดีไหม???
 
ก.) ปล่อยตามธรรมชาติเลย มีทันทีจะได้มีลูกทันใช้ ญาติๆ อยากอุ้มหลานแล้ว
 
ข.) ปล่อยตามธรรมชาติไม่ต้องคำนึงถึงอะไรมากมาย ท้องก่อนแล้วค่อยว่ากัน ฝากครรภ์กับคุณหมออยู่ดีค่อยตรวจตอนนั้นก็ได้
 
ค.) เอ๊ะ!!! อย่าเพิ่งเลย คุมกำเนิดวางแผนครอบครัวไปก่อน เก็บเงินเตรียมพร้อมสักปีสองปี เวลามีเขาออกมาจะได้ไม่ลำบาก
 
ง.) อย่าไปมีเลยลูกกวนตัว แค่ทุกวันนี้สังคมที่โหดร้าย กลัวลูกออกมาเจอสังคมอย่างนี้ รับไม่ได้
 
 
อีกมากมายหลากหลายคำตอบที่เกิดขึ้นในโลกความจริง ไม่มีคำตอบไหนผิดและถูกต้อง เป็นบทสรุปในเพียงข้อเดียว
 
 
และแม้ว่าจะตอบข้อใด การมีบุตรขึ้นอยู่กับ ෳอายุและความพร้อม෴ ของมารดา
 
 
ෳมีลูกตั้งแต่สาวๆ หรือมีลูกเมื่อพร้อม กว่าจะพร้อมก็อายุมากแล้ว ก็ไม่ดีทั้งคู่෴ คำยืนยันจาก ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชกุล แพทย์ประจำคลินิกวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยที่เห็นว่า จะสาวเกินไป หรือรอพร้อม แต่ความชรามาเยือนก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน
 
 
ถ้าเป็นคุณแม่ยังสาวจะเกิดผลเสียอะไรขึ้น.... ศ.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า  หากเด็กเกินไป นอกจากความพร้อมจะไม่มีแล้ว ปัญหาที่ไม่พร้อมต่อการดูแลรับผิดชอบอีกหนึ่งชีวิต ก็จะทำให้มีปัญหาต่อการเลี้ยงดูตามมา ไม่เพียงเท่านี้ ยังส่งผลต่อปัญหาทางด้านสุขภาพของมารดาและบุตรตามมาด้วยเช่นกัน
 
 
ขณะที่คุณแม่วัยสาวใหญ่จะทำอย่างไร... เพราะกว่าจะปลูกต้นรัก จะแต่งงาน มีเลข 3 นำหน้าแล้ว กว่าคุณแม่จะมีความพร้อมก่อนจะล่วงเลยถึง 35 ปีขึ้นไป แพทย์ผู้ให้คำแนะนำวางแผนครอบครัวท่านนี้ บอกว่า มีบุตรตอนอายุมาก เด็กก็จะเสี่ยงต่อโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมสูงอย่าง ดาวน์ซินโดรม ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น
 
 
คุณหมอท่านนี้บอกว่าช่วงที่เหมาะสมกับการมีบุตรคือ 25-35 ปี!!!!
 
 
แต่ไม่ว่าจะแต่งงาน หรือพร้อมจะมีบุตร ก่อน 25 ปี หรือหลัง 35 ปี หรืออยู่ในช่วง 25-35 ปี ก็ควรพบแพทย์ ปรึกษาวางแผนครอบครัว ไม่ใช่เพียงแต่พบแพทย์ตอนจะมีบุตร จริงๆ แล้วควรพบแพทย์ตั้งแต่ก่อนแต่งงานเลยยิ่งดีตรวจความพร้อมของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร
 
 
นอกจากนี้ในเมื่อย้อนเวลากลับไปไม่ได้ ได้เข้าพิธีวิวาห์กันแล้วจะทำอย่างไร คุณหมอสุรศักดิ์ก็มีเคล็ดลับดีๆมาฝากกัน෥
 
 
หากคุณแม่ยังสาวน้อย อายุน้อยกว่า 25 ปี ประมาณ 20-25 ปี คุณหมอแนะนำว่า ควรจะแต่งงาน ทดลองใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันก่อน ปรับการดำเนินชีวิตให้เข้ากัน  เพราะไหนจะเครียดจากการปรับตัวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างสามี ภรรยา และครอบครัวของอีกฝ่าย แถมยังเครียดกับเด็กที่จะเกิดมาทั้งการเลี้ยงดู ภาระค่าใช้จ่าย ฯลฯ ควรวางแผนศึกษากันและกันก่อน ไปพร้อมๆกับการสร้างหลักสร้างฐาน เตรียมความพร้อมของครอบครัว ทั้งฐานะ การใช้ชีวิต ฯลฯ จึงค่อยวางแผนมีบุตร
 
 
แต่สำหรับสาวใหญ่ที่อายุมากกว่า 35 ปีไปแล้วนั้น ฟังทางนี้...รีบเลย แต่ก็ใช้ระยะเวลาในการศึกษากันและกันน้อยลง เพราะอยู่ในวุฒิภาวะที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ประกอบกับมีอายุที่มากแล้วควรรีบมีบุตร
 
 
ใช้เวลาศึกษาซึ่งกันและกันก่อนมีลูก ลดลงจากวัยคุณแม่ยังสาว เหลือเพียง 3-6 เดือนก็มีลูกได้เลย
 
 
แต่ในระหว่างนี้ควรพบแพทย์ เพื่อปรึกษาและวางแผนการมีบุตรด้วย เพื่อเตรียมความพร้อม และตรวจโรคที่มารดาอาจส่งต่อถึงบุตรได้
 
 
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนถอดใจ ไหนๆอายุก็น้อยไป หรือเกินกว่าช่วงอายุที่คุณหมอบอกว่าเหมาะสมกับการมีบุตร  แถมโลกภายนอก สังคมก็ดูมีสิ่งยั่วยุที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งน่ากลัว  ไหนจะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆที่ต้องมีอย่างสมบูรณ์เพื่อต้อนรับการลืมตาดูโลกของบุตรอีก
 
 
ดังนั้นอย่าไปมีมันเลยลูก หรือมีแค่คนเดียวก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องเยอะเลี้ยงไม่ไหว มีคนเดียวให้มีคุณภาพไปเลย
 
 
ช้าก่อน.....ฟังข้อมูลทางนี้
 
ෳหากแต่ละครอบครัว ต่างมีลูกแค่ 1 คนเท่านั้น เท่ากับว่า อัตราการเกิดใหม่ ไม่สอดคล้องกับจำนวนคนที่มีชีวิตอยู่ เพราะมีทั้งพ่อและแม่ที่จะชราลง แต่กลับมีลูกเพียงคนเดียวที่จะเป็นผู้ดูแล ทำให้ในอนาคตเป็นสังคมผู้สูงอายุแต่ส่วนของผู้รับผิดชอบวัยทำงานกลับน้อยกว่าจึงนำมาสู่ปัญหา
 
 
สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทย 1 คน มีลูกโดยเฉลี่ยตลอดชีวิตประมาณ 1.5-1.6 คน ทั้งที่ค่าควรอยู่ในระดับ 2 คน หรือสูงกว่า 2 คน เพราะถ้าเป็นค่าเฉลี่ยที่มีปัจจุบัน เท่ากับว่าไม่สามารถทดแทนจำนวนคู่สมรสได้ แต่ถ้ามากกว่า 2 คน จะทำให้จำนวนบุตรมาชดเชยพอดี෴
 
 
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงต้องช่วยกัน ในการส่งเสริมให้ประชากรไทย ที่มีความพร้อมที่จะดูแลตนและดูแลบุตรได้อย่างดี มีบุตรให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
 
 
มีบุตรเพื่ออนาคตของชาติ!!!!
 
สอดคล้องกับที่ภาครัฐพยายามให้มีการเพิ่มประชากรในส่วนนี้ ด้วยการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในปี 2553  ในเรื่อง นโยบายเร่งพัฒนาสาธารณสุขและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ทั้งพัฒนาระบบบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพ จัดการองค์ความรู้ เทคโนโลยีในด้านนี้ และพัฒนากฎระเบียบต่างๆด้วย
 
 
กระทรวงสาธารณสุขจึงรับลูกต่อ แก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ที่ครม.เห็นชอบไปแล้ว เพื่อให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ การให้คำปรึกษาและบริการทั้งภาครัฐและเอกชน
 
 
ที่สำคัญร่างพ.ร.บ.นี้ยังรองรับสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่จะได้รับบริการตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
 
 
เมื่อภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประชากร รวมถึงมีแผนแม่บทในการให้มารดามีบุตรด้วยอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องแล้ว ว่าที่คุณแม่ คราวนี้อยากกลับมามีสมาชิกในบ้านเพิ่มกันบ้างแล้วซิ 
 
 
สิ่งที่สำคัญนอกจากต้องปรึกษาแพทย์ก่อนแต่งงาน หรือก่อนตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนในการมีบุตรแล้ว เพราะกุมารแพทย์เป็นห่วงเรื่องอาการดาวน์ซินโดรมที่พบมาก ในเด็กที่พบจากมารดาที่มีอายุมากกว่า 35 ปีเป็นอย่างมาก รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
ෳกุมารแพทย์ทั้งหลาย ห่วงเรื่องอาการดาวน์ซินโดรมที่เกิดจากคุณแม่มีอายุเยอะ มากกว่าในรายที่บุตรมีปัญหาสุขภาพจากครรภ์ของคุณแม่อายุยังน้อยหรืออายุไม่มาก เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้อัตราการคลอดบุตรก่อนกำหนด ไม่มีผลต่อตัวคุณแม่เองและบุตรเท่าใดนัก
 
 
วิธีการจะทราบได้คือ การเจาะน้ำคร่ำเช็คสุขภาพของเด็กได้ตั้งแต่ 3 เดือนก็มีวิธีการตรวจที่ช่วยให้ทราบสุขภาพเด็กได้ แต่ถ้าว่าที่คุณแม่มีอายุเกิน35 ปีขึ้นไปก็สามารถตรวจละเอียดเพิ่มเติมได้ด้วย ෴ กุมารแพทย์ท่านนี้ได้แสดงความคิดเห็นและเป็นห่วงกับว่าที่คุณแม่ต่างวัย
 
 
ส่วนในรายที่มีบุตรอยู่แล้ว แล้วกำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ หรืออ่านข้อมูลข้างต้นแล้วอยากช่วยชาติ หรือเห็นคุณค่าว่าต้องการลูกหลานมาดูแลในยามแก่เฒ่านั้น  รศ.นพ.ชิษณุ บอกเคล็ดที่ไม่ลับว่า              
 
 
ෳสำหรับทั้งคุณแม่สาวน้อยและคุณแม่สาวใหญ่ที่มีบุตรอยู่แล้ว ควรเว้นวรรคพักช่วงที่มีบุตรแต่ละคนห่างมากกว่า 2 ปี เพราะข้อมูลในงานตำราทางการแพทย์ของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ระบุว่า หากมีลูกทิ้งช่วงห่างกันมากกว่า 2 ปี จะมีประโยชน์ทั้งจากตัวมารดาเอง ทั้งเป็นการพักมดลูกในการตั้งครรภ์ให้กับสู่สภาวะปกติ
 
 
ที่สำคัญมีงานวิจัยรองรับว่า เด็กที่มีอายุห่างกัน เด็กจะทะเลาะเบาะแว้งลดลง เพราะวัยที่คนโตกับคนถัดมา เริ่มมีวุฒิภาวะต่างกัน ช่วยดูแลกันมากกว่าวัยห่างกันปีเดียว෴
 
 
เมื่อการมีบุตรไม่ใช่เพียง ปล่อยตามธรรมชาติอีกต่อไป ෳเรื่องอายุและความพร้อม ต้องควบคู่กันเสมอ෴ เพราะอนาคตของครอบครัว อนาคตของชาติต้องมีการวางแผนครอบครัวตั้งแต่ก่อนแต่งงาน หรืออย่างช้าก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้สมาชิกใหม่ที่มีสมบูรณ์แข็งแรง สมกับการรอคอยของคุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัว
 
 
Good To Know
 
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผ่านทางยีนด้อยที่แฝงอยู่ในพ่อหรือแม่ ความผิดปกติของโรคนี้คือ เม็ดเลือดแดงจะมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง มีอาการตั้งแต่รุนแรงไม่มากจนถึงขั้นเสียชีวิต การตรวจหาสารพันธุกรรมชนิดนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงของทารกได้
 
 
โรคหัดเยอรมัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง หากมารดาได้รับเชื้อขณะตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์มีโอกาสจะพิการสูง ความพิการที่เกิดขึ้น เช่น ผนังกั้นหัวใจรั่ว หูหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ จึงแนะนำให้ตรวจดูว่า ควรตรวจก่อนการตั้งครรภ์ว่าคุณแม่มีภูมิต้านทานหรือไม่ ถ้าไม่มีภูมิต้านทานก็ฉีดวัคซีน
 
 
ไวรัสตับอักเสบชนิดบี  ตรวจ 2 ส่วน คือ ตรวจดูการติดเชื้อ และตรวจดูภูมิต้านทาน ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับมีทั้งไม่แสดงอาการและสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเอง กับอีกกลุ่มจะเป็นเชื้อในร่างกายเป็นพาหะ ซึ่งคุณแม่ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย จะสามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังลูกได้ ทำให้ทารกมีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง หากแม่ไม่มีเชื้อและไม่มีภูมิต้านทานก็ฉีดวัคซีนป้องกันได้  ส่วนแม่ที่เป็นพาหะของโรค ระหว่างตั้งครรภ์ต้องตรวจเพิ่ม หรือให้สารภูมิคุ้มกันกับลูกทันทีที่คลอด
 
 
โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถตรวจได้จากการตรวจเลือด กรณีที่มีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์นั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษา จะมีโอกาสแท้ง เกิดภาวะทารกบวมน้ำ จนกระทั่งเสียชีวิตในครรภ์ได้ หรือทารกบางคนอาจจะมีการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด ถ้าว่าที่คุณพ่อคุณแม่ตรวจพบก่อน โรคนี้สามารถรักษาได้
 
 
โรคเอดส์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ෳเอช ไอ วี෴ เมื่อติดเชื้อแล้ว ก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานลดลง หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ ไม่ได้ทำให้ทารกในครรภ์พิการ เพียงแต่มีโอกาสที่ทารกแรกเกิดจะติดเชื้อ เอช ไอ วี ได้ กรณีที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ เอช ไอ วี คุณพ่อคุณแม่บางคู่อาจจะตัดสินใจไม่มีลูก เลือกจะคุมกำเนิดแบบถาวร หรือกรณีที่ต้องการมีลูก ก็สามารถลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับเชื้อโดยการให้ยาต้านไวรัสขณะตั้งครรภ์ ก็สามารถลดโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้เช่นกัน

ที่มา
http://highlight.mothersdigest.in.th/99/