ลูกของฉันเป็นโรคสมาธิสั้น(ADHD)หรือไม่?


ลูกของฉันเป็นโรคสมาธิสั้น(ADHD)หรือไม่?

 

คุณพ่อคุณแม่ยุคปัจจุบันมีความกังวลใจกับลูกมากกว่าสมัยก่อนซึ่งมักเป็น ความกังวลทางด้านร่างกายเป็นหลักเช่นลูกของฉันจะแข็งแรงหรือไม่ จะเจ็บป่วยหรือไม่ แต่ปัจจุบันนี้นอกจากร่างกายแล้ว ยังต้องกังวลเพิ่มอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพฤติกรรม อารมณ์ของลูก เช่น ลูกฉันจะเรียนเก่งไหม จะติดเกมส์ไหม จะเกเรไหม และ ที่ยอดฮิตในปัจจุบันคือ ลูกฉันจะสมาธิสั้นไหม?

     เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าที่พ่อแม่เป็นห่วงกังวลเรื่องสมาธิของลูก เพราะจะได้รู้ (ครึ่งๆกลางๆ) จากรายการทีวีบ้าง คอลัมน์ในนิตยสารบ้าง ว่าสมาธิมีผลสำคัญต่อการเรียนและพฤติกรรมของเด็ก เด็กที่สมาธิสั้นมักเรียนไม่ดี มีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ต่อต้านสูง ซึ่งก็มีส่วนจริงบ้างถ้าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorders: ADHD) จริงๆ  แต่ผมพบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากที่วิตกเกินเหตุว่าลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้นจน ต้องพามาพบจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจวินิจฉัย ทั้งๆที่เด็กไม่ได้มีเค้าเลยว่าจะมีสมาธิสั้นจริงๆ ซ้ำร้าย หากพ่อแม่กังวลมากไปจนให้ข้อมูลอาการกับแพทย์เบี่ยงเบนไป หรือแพทย์ถามชี้นำมากไป อาจทำให้เด็กถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นได้ทั้งๆที่ไม่ได้เป็น เลยต้องกินหยูกกินยากันวุ่นวายไปใหญ่ เพราะการวินิจฉัยว่าเด็กมีสมาธิสั้นนั้น ไม่มีเครื่องตรวจวัด ไม่มีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์หรือตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการอะไรจะช่วย ได้แต่ใช้ข้อมูลจากประวัติพฤติกรรมที่ผู้ปกครองให้ และการสังเกตพฤติกรรมขณะที่แพทย์ตรวจเป็นหลัก ร่วมกับข้อมูลรายงานพฤติกรรมจากครูที่สอนร่วมด้วย แต่ก็แล้วแต่ว่าทั้งพ่อแม่และครูจะรู้จักใกล้ชิดเด็กแค่ใหน ให้ข้อมูลถูกหรือไม่อีกด้วย ดังเคยมีรายงานว่าเด็กในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสังคมตื่นตัวเพ่งเล็งเรื่องสมาธิสั้นมาก เด็กถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นกันมากมายจนทำให้ มีอัตราการเกิด(prevalence)โรคสมาธิสั้นในเด็กสูงกว่าประเทศทางยุโรปหลาย เท่าตัว จนมีการวิพากย์วิจารณ์กันมากในวงการแพทย์ว่าน่าจะมากเกินความเป็นจริง

สมาธิ(attention)คือการที่จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างต่อเนื่องไม่วอกแวกไปเรื่องอื่น การมีสมาธิจึงเป็นคุณสมบัติที่ดีในการเรียน การทำงาน ทำให้มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว แต่สมาธิจะยาวมากน้อยขึ้นกับระดับพัฒนาการ หรืออายุของเด็กด้วย พ่อแม่จำนวนมากที่คาดหวังสมาธิของลูกมากเกินวัย จึงคิดว่าลูกสมาธิสั้นผิดปกติ เช่น กังวลว่าลูกอายุ 5 ปี (อนุบาล 2) มีสมาธิทำการบ้านไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ทั้งๆที่ตามปกติแล้ว เด็กวัยนี้อาจมีสมาธิเพียง 10 นาทีเท่านั้น เนื่องจากเด็กเล็กมีช่วงสมาธิสั้นกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ แม้แต่ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตก็จะมีสมาธิเต็มที่ราว45 นาทีเท่านั้น เด็กประถมปลายประมาณ 30-45 นาที เด็กประถมต้นราว 15-30 นาที เด็กอนุบาลประมาณ 5-15นาทีเท่านั้น การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในเด็กเล็กๆ จึงมีโอกาสพลาดสูง เพราะเป็นวัยที่สมาธิสั้นอยู่แล้ว การวินิจฉัยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ของจริง)จะไม่ได้มีเพียงสมาธิสั้น (short attention span)เท่านั้น แต่มักมีอาการหลายๆอย่างรวมด้วยคือ 

1. อาการสมาธิสั้น (short attention span) แสดงออกโดยมีพฤติกรรม วอกแวกง่าย ทำงานไม่สำเร็จ เปลี่ยนของเล่นหรือกิจกรรมบ่อย เบื่อง่าย หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ ของหายบ่อย

2. อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity)แสดงออกมีพฤติกรรม หยุกหยิกไม่นิ่ง นั่งไม่ติดที่ พูดมาก เล่นโลดโผน ทำข้าวของเสียหาย เกิดอุบัติเหตุบ่อย

3. หุนหัน (impulsivity)แสดงออกโดยการยั้งตัวเองไม่ค่อยได้ เหมือนรถเบรกแตก จะชอบพูดแทรก พูดโพล่ง แทรกคิว เล่นแรง ดูเหมือนคนใจร้อน ซุ่มซ่าม

 อีกทั้งอาการต่างๆเหล่านี้จะต้องเป็นมานานและต่อเนื่องเป็นปีหรือเป็นมา ตลอดตั้งแต่เล็กๆ ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน และจะต้องเป็นในทุกๆสถานที่ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ไม่ใช่มีอาการเฉพาะบางที่บางสถานการณ์เท่านั้น ที่สำคัญอาการเหล่านี้ต้องเป็นมากกว่าเด็กอื่นๆที่อยู่ในวัยเดียวกัน (เช่นในห้องเรียนเดียวกัน) อย่างชัดเจน และต้องมีระดับความรุนแรงจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น เช่น เป็นเหตุให้มีปัญหาการเรียน (รบกวนเพื่อนๆ รบกวนการเรียนการสอน หรือ กระทบผลการเรียนของเขาอย่างชัดเจน)หรือทำให้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆหรือเป็นปัญหาในการเลี้ยงดูเด็ก เช่น ผู้ดูแลเหนื่อยมากจนดูแลไม่ไหว หรือเด็กต้องถูกลงโทษบ่อยๆ

ถ้าหากลูกของท่านมีอาการหลายอย่างดังกล่าว อีกทั้งอาการมีความรุนแรง มีระยะเวลาที่เป็นมานาน มี อาการในหลายสถานที่ และรบกวนด้านการเรียน สังคม หรือสมรรถภาพของเด็ก ก็น่าสงสัยว่าเด็กจะมีโรคสมาธิสั้น (ADHD) และสมควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ ประเมินครับ

  เขียนโดย: นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ (กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นรพ.มนารมย์)