ความสุข 7 อย่างของลูกที่พ่อแม่คาดไม่ถึง


ความสุข 7 อย่างของลูกที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

ทุกวันนี้มีเด็กๆ มากมายที่ไม่ได้รับความสุขที่เหมาะสมและเพียงพอ ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะส่วนใหญ่ความสุขของพวกเขาตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองยัดเยียดให้ เช่น ความสำเร็จที่ได้รับจาก การเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นหรือถ้วยรางวัลที่ส่องแสงเป็นประกาย ใบประกาศนียบัตรการจบหลักสูตร การชนะการแข่งขันและชิงรางวัลต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหยิบยื่นให้เป็นความสุขของเด็กๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว ความสุขของเด็กๆอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น


ความสุข 7 อย่างของลูกที่พ่อแม่คาดไม่ถึง   thaihealth

ตัวผู้เขียนเองเป็นคนที่เติบโตในต่างจังหวัดเมื่อคิด ถึงความสุขในวัยเด็กจะคิดถึงทุ่งนาที่ได้ไปวิ่งเล่น มีสุนัขคอยไล่ตาม การไล่จับผีเสื้อหรือได้ขึ้นไปบนกองทรายที่เป็นเหมือนภูเขาลูกโต ได้ปีนต้นมะม่วง หรือการได้ไปเก็บไข่ไก่ในตอนเช้าๆ นั่นคือความสุขที่ผู้เขียนคิดถึงในยามที่เป็นเด็ก เราลองมาดูว่าความสุขง่ายๆของเด็กๆที่พวกเขาต้องการนั้นคืออะไร

1. ได้กินอาหารตรงเวลา หลายท่านอาจจะคิดว่าข้อนี้ดูง่ายเกินไป แต่หากเราลองคิดดูว่า ถ้าหากเด็กๆต้องหิวท้องร้อง เพราะต้องการทานอาหาร แต่เราไม่มีอาหารให้เด็กตรงเวลา หรือเด็กต้อง อดกินอาหารว่างหรือต้องรอ 2 - 3 ชั่วโมง เพราะงานจัดเลี้ยงในวันพิเศษ คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ เพราะการกินอาหารตรงเวลา จะช่วยให้สมองมีการเจริญเติบโตและช่วยควบคุมอารมณ์ ทำให้ร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นโรคกระเพาะอีกด้วย สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ทำให้เด็กสงบ พอใจ และนั่นนำความสุขที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

2. การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เด็กบางคนต้องการการนอนมากกว่าเด็กอื่น การนอนหลับเป็นการช่วยพักผ่อนทั้งร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญาทำให้เราฉลาด สมองมีการเจริญเติบโตอย่างเต็ม แต่หากเด็กไม่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ จะทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด งอแง และไม่สามารถทำกิจกรรมหรืองานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเต็มที่ เฉื่อยช้า ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ การนอนให้ตรงเวลาจึงถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอันดับต้นๆทีเดียว

3. การเล่นอิสระโดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่ชี้แนะ การให้เด็กรู้จักเล่นสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง เช่น เล่นไม้บล็อก เล่นทราย เล่นน้ำ โดยการสร้างกฎกติกาด้วยตัวเองขึ้น จะช่วยให้เด็กมีความสุขมากกว่าการจัดตารางให้เด็กๆทำ กิจกรรมที่อัดยัดแน่นเอียดในแต่ละวันทำให้เด็กๆไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง

4. ยอมให้เด็กๆ ได้แสดงอารมณ์ของตัวเองออกมา เมื่อ เด็กๆตะโกนด้วยความโกรธเรามักจะบอกให้เด็กหยุด หรือเมื่อพวกเขาร้องไห้ด้วยความเศร้า เราจะบอกให้เด็กหยุดร้องไห้ ให้เราลองคิดถึงตัวเองบ้างเมื่อเรารู้สึกโกรธหรือเศร้าเราอยากจะร้องไห้หรือ อยากจะตะโกนออกมาดังๆ อยากเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว เด็กๆก็เช่นเดียวกัน เราควรให้โอกาสเด็กได้แสดงอารมณ์ของเขาออกมาบ้าง ไม่ใช่ถูกบังคับและควบคุมอยู่ตลอดเวลา เพื่อเด็กจะได้ระบายสิ่งที่คับข้องใจออกมา

5. ให้โอกาสเด็กได้เลือกตัวเลือกด้วยตัวเอง โดยปกติเด็กๆจะได้รับการควบคุมในการเลือกตัวเลือกในชีวิตอยู่ตลอดเวลา เช่น ให้ทำกิจกรรมต่างๆที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่ามีประโยชน์ ให้ทานอาหารที่มีคุณค่า คราวนี้ลองให้เด็กๆเลือกตัวเลือกของเขาเองบ้าง เช่นให้เลือกเสื้อผ้าเอง ให้เลือกร้านที่จะไปทานอาหารร่วมกันหรือให้เลือกกิจกรรมพิเศษนอกเวลาเรียน ด้วยตัวเอง นั้นจะเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการตัดสินใจและเด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจอีกด้วย

6. ทำให้เด็กๆแน่ใจว่าเราได้ยินในสิ่งที่เขาพูด เด็กๆ สามารถรับรู้ความรู้สึกของพ่อแม่ผู้ปกครองได้แม้ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆในวัย คลาน พวกเขาสามารถบอกได้ว่าตอนนี้คุณพ่อคุณแม่อารมณ์ดีหรือมีอารมณ์ไม่ดี ลูกอาจจะอยากพูดหลายสิ่งหลายอย่างให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปิดกั้นความคิดของเขาหรือขัดจังหวะการพูดจะทำให้ลูกไม่ กล้าพูดและเป็นเด็กที่เก็บกดหรือไปปรึกษาเพื่อนแทน ดังนั้นให้เราแน่ใจว่าลูกรู้ว่าเราได้ยินทุกอย่างที่เขาพูด และใส่ใจในทุกคำพูด สิ่งที่เด็กๆพูดอย่าคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ การฟังลูกพูดนั้นจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และ เป็นความสัมพันธ์ที่ใสสะอาดที่สร้างได้ง่ายๆ

7. ให้เด็กๆ รับรู้ว่าเรามีความรักที่ไม่มีเงื่อนไขให้สำหรับเขา เมื่อเด็กๆทำของเสียหาย กระโดดบนเบาะโซฟาห้องรับแขกเป็นประจำ หรือตีลังกาไปมาในห้องนั่งเล่น เราอาจจะบอกให้ลูกหยุดการกระทำเหล่านั้นแต่ในเวลาเดียวกันเราต้องให้ลูกรู้ ว่าเรารักยังรักเขาอยู่เช่นเดิม เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าลูกจะซนหรือเรียนไม่เก่ง ช้าไม่ทันเพื่อน สุขภาพไม่แข็งแรงแต่เราก็ยังรักเขาอยู่เสมอ ให้ลูกรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัย พ่อแม่เป็นที่สงบที่ลูกสามารถจะวิ่งเข้าไปหาได้เสมอ อย่าให้เราไปคิดถึงถ้วยรางวัล หรือใบประกาศนียบัตรผลการเรียนที่ดีหรือรางวัลต่างๆที่เด็กๆจะได้รับในชีวิต

แต่การสร้างความสุข ให้กับเด็กนั้น คือการได้ร่วมกิจกรรมร่วมกับลูก มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับลูก ฟังเมื่อลูกพูดและชื่นชมกับผลงานที่ลูกประดิษฐ์ เล่นกับลูก และเป็นเพื่อนที่ดีกับลูก เมื่อลูกมีปัญหา ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คือคุณพ่อคุณแม่ค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอ

 ที่มา : MGR Online โดย ดร. สุพาพร เทพยสุวรรณ