เตรียมยาไว้ อุ่นใจยามท่องเที่ยว


เตรียมยาไว้ อุ่นใจยามท่องเที่ยว

 

เตรียมยาไว้ อุ่นใจยามท่องเที่ยว (Ya&You)
ผู้เรียบเรียง ภก. ปรัชญา เจตินัย นักวิชาการ มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา

          ใครที่วางแผนแพ็คกระเป๋าเตรียมตัวไปเที่ยว หากไปเที่ยวในสถานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่น่าห่วง แต่เมื่อต้องไปเที่ยวป่าเขาหรือสถานที่ห่างไกลตัวเมือง แล้วมีเหตุบังเอิญต้องเจ็บป่วยกลางคัน และไม่สามารถไปพบแพทย์ได้ทันที ถ้าเรามียาการรักษาอาการเบื้องต้น ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาลงได้โรคหรืออาการที่พบบ่อยระหว่างเดินทาง ได้แก่

          ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ยาที่ต้องใช้เป็นประจำคือ paracetamol แต่มีข้อควรระวังคือ การรับประทานต่อเนื่องจะทำให้เป็นพิษต่อตับ ยาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้ paracetamol คือ ibuprofen ยานี้ลดไข้ แก้ปวดได้เช่นเดียวกับ paracetamol แต่มีข้อดีคือลดการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนได้ หากปวดฟันหรือมีการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อระหว่างเดินทางก็พอจะช่วย บรรเทาอาการได้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้ยา ibuprofen คือ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก หรือเป็นโรคกระเพาะ หากปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ tolperisone หรือ orphenadrine ยากลุ่มนี้มักทำให้รู้สึกง่วงนอน ควรระมัดระวังหากต้องขับรถ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ

          ท้องเสีย อาจเกิดขึ้นได้เพราะไม่คุ้นเคยกับอาหารท้องถิ่น หรืออาหารไม่สะอาดมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ให้ดื่มผงเกลือแร่ ORS แนะนำชนิดที่เป็นซองละลายน้ำดื่มพอดี 1 แก้ว วิธีดื่มที่ถูกต้องคือค่อยๆจิบ สำหรับยาหยุดการเคลื่อนไหวของลำไส้ loperamide ให้รับประทานเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะเป็นการกักสารพิษและเชื้อโรคไว้ในร่างกาย

          แสบท้อง โรคกระเพาะจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือมีภาวะเครียดขณะเดินทาง แนะนำให้พกยาเคลือบกระเพาะชนิดเม็ดเพื่อความสะดวกในการพกพา ได้แก่ aluminium hydroxide และ magnesium hydroxide ซึ่งบางชื่อการค้าอาจผสมยาขับลมเพิ่มเติมลงไปในสูตรด้วย

          อาการจุกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการได้ด้วย simethicone หากมีอาการอาหารไม่ย่อยจากการรับประทานอาหารอิ่มเกินไป อาจรับประทานยาช่วยย่อย ซึ่งมีให้เลือกหลายยี่ห้อ

          อาหารเป็นพิษ เกิดจากสารพิษในอาหารหรือพิษจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้บ่อยจากการรับประทานอาหารทะเล Activated carbon จะช่วยดูดซับสารพิษไว้

          คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ แนะนำ dimenhydrinate กรณีรับประทานเพื่อป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ ควรรับประทานก่อนออกเดินทางอย่างน้อย ครึ่ง ชั่วโมง

          แพ้ ผื่นคัน ลมพิษ ยาที่ควรพกพา ได้แก่ chlorpheniramine, hydroxyzine และ Calamine lotion ยาแก้แพ้อย่างเช่น chlorpheniramine นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการผื่นคันแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการหวัดได้ด้วยหากเกิดเป็นหวัดระหว่างการเดินทาง

          อุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น มีดบาด หนามทิ่ม หกล้ม เป็นต้น ควรเตรียมชุดปฐมพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย สำลี ผ้าก็อซ พลาสเตอร์ เบตาดีน แอลกอฮอล์ ผ้าพันชนิดยืด (elastic bandage)

          แต่หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ได้แก่ ท้องเสียร่วมกับมีไข้ ถ่ายเป็นมูกเลือด มีกลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีไข้สูง หนาวสั่นโดยเฉพาะการไปเข้าไปในบริเวณที่การระบาดของไข้มาลาเรีย หรือรับประทานยาไปแล้วอาการเจ็บป่วยยังเป็นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง

          ยาที่กล่าวมาอาจไม่จำเป็นต้องนำติดตัวไปทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะการท่องเที่ยวของเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านั้นมากแค่ไหน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือยาสำหรับโรคประจำตัว ถ้ามีประวัติแพ้ยาควรพกบัตรแพ้ยา หรือเขียนชื่อตัวยาที่แพ้ติดตัวไว้ด้วย เพราะหากเป็นลมหมดสติไป อย่างน้อยก็ทำแพทย์พยาบาลผู้รักษาทราบประวัติยาที่เคยแพ้

          ทราบข้อมูลกันแล้วก็ไปแพคกระเป๋ากันเลยครับ แต่อย่าลืมแยกยาต่าง ๆ ออกจากสัมภาระอื่น ๆ และควรอยู่ในช่องที่หยิบใช้สะดวกในทุกสถานการณ์ อย่าเก็บในช่องท้ายรถนะครับ อากาศร้อน ๆ อาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้ ขอให้มีความสุขในการท่องเที่ยวพักผ่อนครับ

 

ที่มา ยากับยู และ www.kapook.com