การดูแลจิตใจผู้ป่วยมะเร็ง


 

        การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนค่ะ นอกเหนือจากการวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเพื่อผลการรักษาที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการรักษา คือ สภาพจิตใจของผู้ป่วยค่ะ ซึ่งมีผลกระทบตั้งแต่ก่อนการรักษา ร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การรักษาโรคใด ๆ ให้ได้ผลดี จะต้องให้การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กันไปด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น การดูแลในส่วนนี้จึงมีความสำคัญที่ควรทราบ ซึ่งจะแบ่งการดูแลตามสภาพการเกิดผลกระทบทางจิต ใจของผู้ป่วยดังนี้ค่ะ

1.     ระยะก่อนและขณะที่ได้รับทราบการวินิจฉัย โรค

2.     ระยะที่ให้การรักษา

3.     ระยะติดตามการรักษา

4.     ระยะสุดท้าย

 

1.ระยะก่อนและขณะที่ได้รับทราบการวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวค่ะ ดังนั้นความตึงเครียดและความกังวลต่อโรคที่ได้รับการวินิจฉัยจึงค่อนข้างสูง ความรู้สึกในวันก่อนทราบผลการวินิจฉัยจึงมีลักษณะขัดแย้งกันในตัวเอง มีความสับสน ทั้งต้องการทราบผลการวินิจฉัย แต่ก็กลัวที่จะเป็นมะเร็ง เป็นลักษณะความขัดแย้งในอารมณ์ เมื่อแพทย์บอกการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ด้วยความรู้สึกและมีเจตคติต่อโรคมะเร็งว่า เป็นโรคที่ผู้ใดเป็นแล้วต้องตายไม่มีทางรักษา พฤติกรรมก็อาจจะแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ กัน ดังนี้ค่ะ

o    การปฏิเสธความจริง
 

o    การโกรธและก้าวร้าว
 

o    การต่อรอง
 

o    การยอมรับ

 

o    ภาวะซึมเศร้า

 

พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจเรียง หรือ ไม่เรียงตามลำดับก็ได้ค่ะ เช่น ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะซึมเศร้า ก่อนหรือหลังภาวะการยอมรับก็ได้ ภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ ตั้งแต่การปฏิเสธความจริง การต่อรอง หรือการหลบหนีความจริง ล้วนแล้วแต่สร้างความกังวลใจให้ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยก็ได้ค่ะ จากรายงานพบว่า ในผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มเหล้ามาก ก็จะมีอัตราเสี่ยงต่อภาวะนี้ และมีโอกาสฆ่าตัวตายมากขึ้นค่ะ
 

ดังนั้นการทราบภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย

- ความรู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง กังวล และกระวนกระวาย


-มีอาการร่วม ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา หรือ กระวนกระวาย

-ขาดความสนใจในการงาน เก็บตัว ขาดสมาธิ เลื่อนลอย และคิดถึงแต่เรื่องความตายค่ะ

2.ระยะที่ให้การรักษา เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาโรคมะเร็งมีวิธีการได้ต่างๆกัน ตั้งแต่การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉาย รังสี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยไม่ค่อยเข้าใจ และกลัวต่อภาวะแทรกซ้อนมาก ดังนั้นผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษาต่างๆ, ภาวะแทรกซ้อน และวิธีการดูแลตนเองในระหว่างการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นค่ะ


 

3.ระยะติดตามการรักษา ระยะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความสบายใจ และมั่นใจมากขึ้นค่ะ เนื่องจากผลการรักษา มักจะขจัดอาการต่างให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น อาการปวด หอบเหนื่อย หรืออาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง ในระยะนี้ผู้ป่วยมักจะมีความสบายใจมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับการกลับเป็นใหม่ หรือ การกระจายของโรค ดังนั้นจึงมักจะแสวงหาสิ่งอื่น ๆ มาเสริมสร้างกำลังใจ เช่น การใช้ยาสมุนไพร ตลอดจนยาพระ ยาหม้อ เป็นต้น
 

4.ระยะสุดท้าย ระยะนี้ผู้ป่วยจะท้อแท้เป็นที่สุด บางครั้งมีความรู้สึกอยากตาย บางครั้งรู้สึกไม่อยากตาย รู้สึกยังมีสิ่งที่ยังไม่ได้จัดการอีกมาก ดังนั้นการกระทำใดๆที่สามารถกระทำให้ผู้ป่วย รู้สึกพึงพอใจเป็นสิ่งสำคัญ จะเป็นการปรับตัวและจิตใจ นำไปสู่การดูแลผู้ป่วยที่ดีขึ้นได้ค่ะ