เช็คโรคและอาการระบบย่อยอาหาร


เช็คโรคและอาการระบบย่อยอาหาร

อาการปวดท้องตำแหน่งต่างๆ

  • ปวดท้องด้านขวาตอนบนความเจ็บปวดในบริเวณด้านขวาตอนบนของช่องท้อง มักเกิด จากโรคตับและถุงน้ำดี
  • ปวดท้องบริเวณแอ่งกระเพาะอาหาร แอ่งกระเพาะอาหาร คือ บริเวณที่อยู่ใต้ซี่โครงลง มา การเจ็บปวดบริเวณนี้มักเกิดจากการแสบกระเพาะอาหารและอาการไม่ย่อย โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบอาจเกิดขึ้นในบริเวณนี้ได้เช่นเดียวกัน บางครั้งโรคต่างๆที่เกิดขึ้นที่ถุงน้ำดีก็อาจเกิดขึ้นในบริเวณส่วนท้องที่เป็นแอ่งได้
  • ปวดท้องส่วนกลาง ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุมาจากโรคที่เกิดขึ้นที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้อาการปวดท้องที่บริเวณนี้อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งมักเริ่มขึ้นที่บริเวณนี้ก่อนเสมอ แล้วจึงเลื่อนมาเป็นส่วนล่าง
  • ปวดท้องด้านซ้ายตอนบนอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ ที่เกิดในลำไส้ใหญ่ เช่น โรคท้องผูกหรืออาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ แต่หากมีอาการแสบกระเพาะอาหาร นั่นหมายถึงอาจเกิดจากกรดและอาการเจ็บปวดเนื่องจากแผลในกระเพาะ
  • ปวดท้องด้านขวาตอนล่าง อาจเป็นอาการของไส้ติ่งอักเสบอย่างเฉียบพลัน อาการอักเสบ ของลำไส้
  • ปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง อาการปวดที่เป็นลักษณะปวดและคลายสลับกันพร้อมกับ อาการท้องร่วง หรือเกิดจากอาการท้องผูก อาจเกิดจากโรคถุงตันที่ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis)

กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

   อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด (dyspepsia) จะมีอาการหลักคือ เมื่อตื่นเช้าจะสบายท้องดี แต่หลังรับประทานอาหารหรือเมื่อเริ่มทำงานจึงเริ่มอึดอัดท้อง และจะเป็นอยู่หลายชั่วโมง นอกจากนี้เป็นลักษณะอาการปวด จุกเสียด แน่นบริเวณหน้าท้อง เรอเหม็นเปรี้ยว เมื่อเรอแล้วจะสบายขึ้น หากมีอาการมากๆ ท้องจะเกร็ง อาการที่เกิดร่วมด้วยคือ เรอบ่อย ผายลมบ่อย ท้องใหญ่ขึ้น อาจจะมีอาการทั้งท้องผูกและท้องเสียร่วมด้วย ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรับประทานอาหารได้ตามปกติ น้ำหนักไม่ลด ส่วนมากมักมีน้ำหนักเกิน

กลืนลำบาก

   ෳอาการของหลอดอาหารที่สำคัญ คือ อาจเกิดจากก้อนเนื้อ หรือมะเร็ง หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อหรือระบบการเคลื่อนไหวของหลอดอาหารไม่ดี ระบบประสาทไม่ทำงาน วิธีสังเกตก็คือ ถ้ากลืนแล้วติด โดยเฉพาะตรงกลางอก และต้องสังเกตว่าสิ่งที่กลืนลำบากนั้นเป็นของแข็งหรือของเหลว ถ้าเป็นมะเร็งแรกๆ จะกลืนลำบากเฉพาะของแข็ง เช่นเนื้อสัตว์ ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ได้รักษา ต่อมาจะกลืนก้อนเล็กๆ หรือแม้แต่ของเหลวอย่างน้ำก็ไม่ได้ จะสำลัก ส่วนการกลืนลำบากที่ไม่ใช่สาเหตุจากมะเร็งแต่เกิดจากการบีบตัวไม่เป็นจังหวะของหลอดอาหารนั้น จะกลืนไม่ได้ทั้งของแข็งและของเหลวแต่แรกเลย และอาจจะเป็นๆ หายๆ สรุปแล้วถ้ากลืนลำบากต้องหาหมอก่อน อย่าสันนิษฐานเอง෴

จุดเสี่ยงโรคฮิตที่ไม่ควรมองข้าม

แสบร้อนกลางอกตอนกลางคืนส่อกรดไหลย้อน

   ෳกรดไหลย้อน เป็นกรดจากกระเพาะที่ขึ้นไปในหลอดอาหาร ชาวตะวันตกเป็นมากกว่าชาวเอเชีย แต่ตอนนี้ชาวเอเชียเริ่มเป็นมากขึ้น เพราะไปกินอาหารเหมือนตะวันตก แล้วเริ่มอ้วน เพราะโรคนี้จะเป็นกับคนอ้วน กินแล้วนอน และเกิดจากหูรูดที่หลอดอาหารปิดไม่ค่อยสนิท กรดที่ไหลย้อนขึ้นมานี้อาจทำให้อักเสบ เป็นแผล หรือเลือดออกได้ อาการชัดเจนคือ แสบร้อนกลางอก จะเป็นเวลานอนตอนกลางคืน นอกจากนี้เวลานอนอาจจะไอ สำลัก หอบ ซึ่งอาจทำให้นึกว่าเป็นโรคปอด โรคหัวใจ แต่ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการตอนกลางคืนต้องนึกถึงกรดไหลย้อนด้วย෴

   หลังอาหารมื้อหนัก หากยกของหนักหรือว่านอนหงายกรดก็จะไหลขึ้นมาทำให้เกิดอาการแสบได้

โรคแผลในกระเพาะอาหารติดต่อได้

   โรคที่เกิดกับกระเพาะก็มีได้ทั้งโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจจะมีทั้งเลือดออก การอุดตัน หรือทะลุ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแผลที่กระเพาะอาหารกัน สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะเกิดจากการติดเชื้อโรค Helicobacter pylori และการกินยา NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs)

   สำหรับเชื้อโรค Helicobacter pylori จะอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา มากกว่าในประเทศที่เจริญแล้ว อยู่ในสภาพที่สกปรก แออัดเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำ อยู่ในตัวคน ในน้ำลาย อาหารที่อาเจียนออกมาของเด็กๆ ถ้าไม่ติดตอนเด็กมักจะไม่เป็นอีกแล้ว โดยมากเราจะติดโรคนี้ตอนเราเป็นเด็ก บ้านไหนที่ลูกดก ก็จะมีเชื้อโรคนี้ได้ง่าย ซึ่งก็ทำให้เกิดกระเพาะอักเสบ เกิดแผล เกิดมะเร็งได้ ซึ่งหากตรวจพบเชื้อและฆ่าเชื้อนี้ได้ก็จะหาย

   นอกจากนี้ยา NSAIDs ซึ่งเป็นยาแก้ปวด แก้โรคข้อ แก้อักเสบข้อ ซึ่งผู้สูงอายุบางคน คนที่เป็นโรคเกาต์ รูมาตอยด์ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ ที่มักจะกินเป็นประจำ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีผลต่อกระเพาะ คือทำให้เกิดแผล เลือดออก ทะลุ หรืออุดตัน เพราะฉะนั้นอย่าซื้อยากินเอง

ไอบีเอสไม่ใช่โรค

   ไอบีเอสมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ท้องอืด แน่นท้อง มีลมมาก เรอและผายลมบ่อยๆ อาการจะเป็นๆหายๆ ไปตรวจก็ไม่เจออะไร แต่ไม่หายสักที อาจจะเป็นระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีก็ได้ นอกจากนี้หากเครียดหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อาการก็จะรุนแรงขึ้นได้

   ไอบีเอสจะมีอาการปวดท้องไม่สบายในท้องซึ่งสัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระ และลักษณะของอุจจาระที่ถ่ายออกมา เช่น เมื่อปวดท้อง พอได้ถ่ายอุจจาระแล้วสบายท้อง หรือได้ถ่ายอุจจาระแล้วท้องเดิน หรือถ่ายอุจจาระแล้วแข็ง

ที่มา :http://www.cheewajit.com/highlight.asp