เซลล์พิเศษซ่อมหัวใจชำรุด พบในทารกแรกเกิดเท่านั้น
เซลล์พิเศษซ่อมหัวใจชำรุด พบในทารกแรกเกิดเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์พบเซลล์หายากในหัวใจของทารกแรกเกิด ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นกล้ามเนื้อหัวใจที่สมบูรณ์ได้ เปิดโอกาสสู่การรักษาแนวทางใหม่ เพื่อใช้รักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด
เคนเนธ เชียน หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบสเต็มเซลล์ใหม่ของเซลล์หัวใจมนุษย์ และเป็นหนึ่งในเซลล์ที่ถูกตั้งโปรแกรมให้พัฒนาไปเป็นกล้ามเนื้อหัวใจ แต่ยังอยู่ในระยะแรกเริ่มที่ยังไม่พัฒนาให้เป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ isl1+ ค้นพบโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในรัฐซันติอาโก สหรัฐ เป็นเซลล์ที่พบในหัวใจของหนู และทารกแรกเกิด
ทีมวิจัยของเชียนพบเซลล์ต้นกำเนิดดังกล่าวในบริเวณของหัวใจของคนที่หัวใจบกพร่องมาตั้งแต่กำเนิด แสดงให้เห็นว่าเซลล์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการปรับรูปแบบและซ่อมแซมหัวใจของทารกแรกเกิด
"การค้นพบเซลล์เหล่านี้ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าเซลล์พวกนี้ปกติมีหน้าที่ในการก่อตัวเป็นหัวใจในช่วงที่เป็นตัวอ่อน และเป็นเซลล์หายากที่ยังคงสภาพเป็นเซลล์สำรองอยู่หลังจากคลอดเป็นทารกเต็มตัวแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก" เชียนกล่าว
แม้ว่าเซลล์ดังกล่าวจะยังไม่พัฒนาเป็นหัวใจใหม่อย่างเต็มรูปแบบ แต่เชียน อธิบายว่าเซลล์เหล่านี้สามารถเติบโตอยู่ใกล้กับเซลล์หัวใจ และสามารถนำมาใช้แทนอุปกรณ์หรือพวกลิ้นหัวใจเทียมเพื่อช่วยให้เด็กที่ระบบปั๊มหัวใจบกพร่องได้ นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า ในเชิงทฤษฎีแล้วเซลล์เหล่านี้สามารถใช้รักษาโรคหัวใจได้ ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่สำหรับความรู้ด้านหทัยวิทยา
เซลล์ isl1+ พบในส่วนของหัวใจที่เรียกว่า เอเทรียม ของหนูแรกเกิด สามารถใช้เทคนิคเชิงพันธุศาสตร์เพื่อนำไปติดกับเนื้อเยื่อหัวใจของตัวอ่อนมนุษย์ และติดหัวใจหนูได้ จากการทดลอง เซลล์ isl1+ สามารถพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจได้ทันที นักวิจัยเชื่อว่ายังมีเซลล์ในลักษณะเดียวกันนี้ในหัวใจของผู้ใหญ่อีก
"เซลล์ที่พบใหม่สามารถพัฒนาเป็นเซลล์กล้ามเนื้อได้อย่างเต็มตัว และมีคุณสมบัติใช้งานครบถ้วนเหมือนกับเซลล์ที่พัฒนาเป็นเนื้อเยื่อหัวใจสมบูรณ์" นักวิจัยเขียนไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารเนเจอร์
การค้นพบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นด้วยว่าหัวใจมีคุณสมบัติพิเศษในการซ่อมแซมตัวเอง จากเดิมที่เชื่อว่าหัวใจเมื่อได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุไม่มีทางที่จะซ่อมแซมตัวเองได้ แต่การค้นพบเซลล์ใหม่ซึ่งสามารถแบ่งตัวและเติบโตเป็นกล้ามเนื้อหัวใจได้ กลับแสดงให้เห็นว่าหัวใจมีกลไกในการซ่อมแซมตัวเองในที่สุด
ที่มา :http://www.skth.go.th/modules.php?name=News&file=topics&topic=2