"มะรุม" พืชอาหารและสมุนไพรสรรพคุณเลิศ
กินแกงส้มมะรุมที่ร้านแห่งหนึ่ง รู้สึกอร่อย เพราะเขาขูดผิวมะรุมเอาส่วนที่แข็งๆออกจนหมด มันคงอร่อยเพราะเหตุนี้ บางร้านไม่ขูดออกหมดเพราะเสียดายของเอาเส้นกากใยมะรุมมาต้มให้กินด้วย ไม่ต้องมาหวังดีต่อผู้บริโภคเลย ไม่อยากกิน ขี้เกียจเคี้ยว จริงๆแล้ว ถ้าอยากกินสะดวกไม่มีอะไรติดขัดความอร่อยแล้วละก็ ให้ผ่าฝักมะรุมออกเป็นสองซีกแล้วใช้ช้อนขูดเอาแต่เนื้อเท่านั้นมาแกง อย่างนี้ดี แต่แม่ค้าคงไม่ทำ มิใช่แค่ผลมะรุมเท่านั้นที่นำมาบริโภคเป็นอาหาร ส่วนอื่นก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้ เช่น ยอดอ่อน ช่อดอกอ่อน...
ในส่วนของความเป็นสมุนไพรของมะรุมนั้น มะรุมก็เป็นพืชอีกชนิดที่คนนิยมทำเป็นแคปซูลเพื่อจำหน่าย ที่ทำเป็นแคปซูลนี่ก็เพื่อความสะดวก ทำไมมะรุมเป็นสมุนไพร จะบอกให้ดังนี้ สรรพคุณสารต่างๆ อยู่ที่ใบเป็นหลัก ใบมะรุม 100 กรัม มีพลังงาน 26 แคลอรี โปรตีน 6.7 กรัม (2 เท่าของนม) ไขมัน 0.1 กรัม ใยอาหาร 4.8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.7 กรัม วิตามินเอ 6,780 ไมโครกรัม (3 เท่าของแครอท) วิตามินซี 220 มิลลิกรัม (7 เท่าของส้ม) แคโรทีน 110 ไมโครกรัม แคลเซียม 440 มิลลิกรัม (เกิน 3 เท่าของนม) ฟอสฟอรัส 110 มิลลิกรัม เหล็ก 0.18 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 28 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 259 มิลลิกรัม (3 เท่าของกล้วย)
ใบ ใช้ถอนพิษไข้ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ แก้แผล ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ขับปัสสาวะ ป้องกันมะเร็ง ลดความดันโลหิต ยอดอ่อน ใช้ถอนพิษไข้ ดอก ใช้แก้ไข้หัวลม เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันมะเร็ง ฝัก แก้ไข้ ป้องกันมะเร็ง ลดความดันโลหิต บางคนบอกว่า ฝักมะรุมอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ คือมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่เรียกว่า โอเมก้า 9 ในปริมาณสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เมล็ด เมล็ดปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้บวม แก้ปวดตามข้อ ป้องกันมะเร็ง ราก รสเผ็ด หวาน ขม สรรพคุณ แก้อาการบวม บำรุงไฟธาตุ รักษาโรคหัวใจ รักษาโรคไขข้อ (rheumatism) เปลือกลำต้น รสร้อน สรรพคุณขับลมในลำไส้ ทำให้ผายหรือเรอ คุมธาตุอ่อน ๆ แก้ลมอัมพาต ป้องกันมะเร็ง คุมกำเนิด เคี้ยวกินช่วยย่อยอาหาร ยาง ฆ่าเชื้อไทฟอยด์ ซิฟิลิส แก้ปวดฟัน
ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย บอกว่า จากรายงานการวิจัยพบว่า น้ำมันที่อยู่ในเมล็ดมะรุมสามารถรักษาโรคข้างเคียงเกี่ยวกับผิวหนัง นอกจากนี้ในส่วนต่าง ๆ ของมะรุมยังสามารถรักษาโรคไขข้ออักเสบหรือรูมาตอยด์ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ถือเป็นยาสมุนไพรที่ใช้แพร่หลายนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้กระแสความนิยมในการบริโภคมะรุมเพิ่มมากขึ้น และมีการบริโภคในปริมาณมากในรูปของผงมะรุมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับปริมาณมากเกินไป
ฉะนั้นการบริโภคฝักมะรุมในปริมาณมากก็ไม่ได้มีผลดีเสมอไป โดยเฉพาะในรูปของการนำมาทำเป็นผงแห้งแล้วใส่แคปซูล หรือ ในรูปสารสกัดมะรุมที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งผลในด้านการรักษาหรือป้องกันโรคจะต่างกัน เนื่องจากการนำมาสกัดจะมีสารสำคัญเพียงบางชนิดและอยู่ในรูปของสารเคมีที่มีความเข้มข้น เมื่อกินอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นพิษในร่างกาย อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลยืนยันจากการศึกษาในคน ส่วนใหญ่มีเพียงข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในระดับหลอดทดลองและในระดับเซลล์เท่านั้น
ขอปิดท้ายด้วยสรรพคุณอีกข้อที่น่าสนใจของมะรุม คือ ชะลอความแก่ แม้จะไม่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญคือ รูทินและเควอเซทิน (rutin และ quercetin) สารลูทีนและกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (lutein และcaffeoylquinic acids) ซึ่งต้านอนุมูลอิสระ ดูแลอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ จอประสาทตา ตับ และหลอดเลือดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ การกินสารต้านอนุมูลอิสระนั่นหมายถึงว่า จะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์