'ของเล่น' พัฒนาสมองสร้างบุคลิก
#o#ของเล่น#o# พัฒนาสมองสร้างบุคลิก
เมื่อการเล่นคือสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมองและพัฒนาการ พ่อแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก
เพราะการ "เล่น" เปรียบเสมือนชีวิตจิตใจของเด็ก "ของเล่น" จึงต้องเป็นมากกว่าเครื่องมือสร้างความสนุก แต่ช่วยเพิ่มพลังสมองไปพร้อมกัน ทำให้การเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัยนั้น กลายเป็นโจทย์ยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะบางครั้งของเล่นที่ราคาแพงและคิดว่าดีที่สุดสำหรับลูก กลับไม่สร้างความประทับใจให้กับพวกเขาได้อย่างที่ตั้งใจ
รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีบอกว่า การเล่นของเด็กเปรียบเสมือนการทำงานของผู้ใหญ่ เป็นกิจกรรมที่จำเป็นในชีวิตเพื่อความอยู่รอด
เด็กต้องการการเรียนรู้เพิ่มเติมทันทีหลังคลอด สมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาว่าต้องค่อยๆ เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมใกล้ตัวเพื่อการพัฒนาสมองอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีวุฒิภาวะ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานเป็นปีๆ กว่าจะช่วยตัวเองได้ การที่เด็กสามารถมีพัฒนาการต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ การช่วยเหลือตนเองหรือด้านสังคมเป็นดัชนีชี้วัดแสดงให้เห็นว่า สมองของเด็กได้พัฒนา และครอบคลุมส่วนที่ควบคุมระบบประสาท ควบคุมกล้ามเนื้อและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพราะโครงสร้างสมองของเด็ก จะปรับตามสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ ฉะนั้น ถ้าเด็กใช้แต่นิ้วเลื่อนไปกับสิ่งที่เห็นแล้วมันเปลี่ยนเร็วๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตอบสนองเด็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเด็กยังมีสมาธิสั้นไม่สามารถสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ ดังนั้น การเล่นหรือทำกิจกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของเด็กโดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย อาจทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาสมองให้สามารถค่อยๆ เรียนรู้ และฝึกให้มีสมาธิสามารถจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ยาวนานขึ้นอย่างเหมาะสมตามวัย
แต่พ่อแม่บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่า ลูกที่กำลังจดจ่ออยู่กับหน้าจอนั้นกำลังมีสมาธิ แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นการฝึกเด็กให้มีสมาธิมากขึ้นตามอายุ นอกจากนี้การหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมหรือของเล่นประเภทเดียวนานๆ อาจทำให้เด็กมีประสบการณ์ในเรื่องอื่นๆ ลดลง ซึ่งหมายถึงการพัฒนาโดยขาดการเชื่อมโยงของสมองส่วนต่างๆ ตามที่ควรจะเป็น
"ของเล่นที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งไม่ช่วยเสริมพัฒนาของเด็ก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กไทยมีพัฒนาการโดยรวมล่าช้าในช่วงแรกเกิด-6 ปี โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษา ส่งผลให้โอกาสในการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวน้อยลง ซึ่งผลที่ตามมาคือโอกาสที่สมองจะพัฒนาลดลงตามไปด้วย" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าว
อาจารย์พรพิไล เลิศวิชา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้โดยสอดคล้องกับการทำงานของสมอง (BBL) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยในสถานศึกษามีโอกาสน้อยมาก ในการได้สัมผัสและเล่นกับของเล่น ที่ผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกับวิธีทำงานของสมองของเด็กอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย แม้โรงเรียนอนุบาลโดยทั่วไปจะมีของเล่นให้เด็กเล่นอยู่บ้าง แต่มีจำนวนน้อย และไม่ครอบคลุมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก
หลักการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ Brain-based Learning : BBL เป็นศาสตร์ทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) พูดถึงพัฒนาการของสมองอย่างลึกซึ้ง กระทั่งเข้าใจว่าพัฒนาการของสมองมีรูปแบบอย่างไร และของเล่นจะช่วยเสริมให้สมองพัฒนาก้าวขึ้นไปได้อีก
สมองเป็นศูนย์รวมของร่างกายมนุษย์ มีการทำงานที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ดังนั้น ของเล่นที่มีความเป็น BBL จึงสามารถสร้างเสริมพัฒนาการไปด้วยกันทั้งเรื่องภาษา ความจำ ร่างกาย สังคมและสิ่งแวดล้อม
"วิธีการเลือกของเล่น พ่อแม่ต้องดูเด็กเป็นหลัก เพราะเด็กทุกคนมีความพิเศษส่วนตัวต่างกัน แต่หากพ่อแม่อยากจะเสริมพัฒนาการบางอย่างควรช่วยเสริมผ่านการเล่น รวมถึงพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ การใช้ของเล่นช่วยเสริมพัฒนาการทางสมองได้เช่นกัน" อาจารย์พรพิไล กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงที่สุดคือ "หัวใจของการเล่นคือต้องสนุก" เพราะเมื่อเกิดความสนุกแล้วสมองของเขาจะเปิดรับสำหรับข้อมูลต่างๆ ที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ตลอดเวลา หากของเล่นที่เด็กเล่นแล้วไม่สนุก ก็ไม่ควรบังคับฝืนใจให้เล่น เพราะหากเด็กไม่มีความสุขแล้ว เด็กจะไม่ได้อะไรจากสิ่งนั้นเลย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา