ยาปฏิชีวนะกับปลานิล
ยาปฏิชีวนะกับปลานิล
ประมง อีกอาชีพที่เกษตรกรบ้านเรานิยมทำรองจากอาชีพทำไร่ ทำสวน และทำนาข้าวการเลี้ยงปลาตามวงจร ตั้งแต่ปล่อยลูกปลาลงบ่อจนกระทั่งจับขายได้นั้น หากโชคดี ปลาไม่เป็นโรคตายยกบ่อเสียก่อน อาชีพนี้จะทำรายได้ให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ และลืมตาอ้าปากได้
ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังสั่นคลอนเช่นทุกวันนี้ วิธีหนึ่งที่เกษตรกรนิยมใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคในปลาที่เลี้ยงในระบบการผลิตแบบฟาร์ม คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งกลุ่มที่นิยมใช้ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะกลุ่มเททระซัยคลิน มีอยู่ 3 ชนิด คือ คลอร์เททระซัยคลิน ออกซี่เททระซัยคลิน และเททระซัยคลิน
ในการเลี้ยงปลา อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะยาออกซี่เททระซัยคลิน และต้องใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธีเท่านั้น มิฉะนั้นยาอาจจะตกค้างและไปสะสมอยู่ในตัวปลาได้ เมื่อเรากินปลาที่มียาปฏิชีวนะตกค้างเข้าไป อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ เป็นพิษต่อกระดูก ฟัน ตับ ไต และทำให้ภูมิต้านทานร่างกายลดลง
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 303 ปี 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง กำหนดให้มียาออกซี่เททระซัยคลินตกค้างในกล้ามเนื้อปลาได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ถ้าพบเกินกว่านั้นอาจอยู่ในขั้นที่มีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับร่างกายได้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างปลานิลจำนวน 30 ตัวอย่างจาก 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น เชียงราย นครสวรรค์ สุพรรณบุรี นครปฐม และสุราษฎร์ธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์การตกค้างของยา 3 ชนิด คือ คลอร์เททระซัยคลิน ออกซี่เททระซัยคลิน และเททระซัยคลิน
ผลปรากฏว่า ไม่พบยาตกค้างในปลานิลทั้ง 30 ตัวอย่าง อาจเป็นเพราะ เกษตรกรไทยปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาโรคในการเลี้ยงปลาได้อย่างถูกต้องถูกวิธี ทำให้วันนี้คนไทยได้กินของดีและปลอดภัย ไม่ต้องซื้อต้องหาจากเมืองนอกกันให้ขาดดุล
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ