สารพัดโรคร้ายจาก
สารพัดโรคร้ายจาก "ภัยขยะ"
ทุกวันนี้ขยะจากบ้านเรือนจึงมีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราไม่สามารถกำจัดได้หมด ขยะเหล่านี้ก็จะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคต่างๆ ได้ นายแพทย์สมิง เก่าเจริญ หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า ในแต่ละวันคนเราจึงมีโอกาสที่จะได้รับพิษภัยจากขยะอย่างไม่รู้ตัว ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยอันตรายที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงมาก อาจเกิดขึ้นโดยทันทีหรือสะสมในระยะยาว
อย่างครอบครัวน้องแก้ว (นามสมมติ) หญิงสาววัย 18 ปี หนึ่งในชาวชุมชนกองขยะหนองแขม ที่เกิดและเติบโต ณ ที่แห่งนี้ เธอมีปัญหาเรื่องโรคผิวหนังตั้งแต่ยังเล็ก น้องแก้วเล่าไปพลางเกาแขนทั้งสองข้างไปว่า หากวันใดที่มีการเผาขยะ ตามตัวและใบหน้าของเธอจะมีผื่นแดงขึ้นไปทั่ว แล้วจึงกลายเป็นตุ่มน้ำใส พอเริ่มแตกจากการเกาก็จะเป็นแผล ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าแผลนั้นจะตกสะเก็ด พอเริ่มมีการเผาขยะใหม่ก็เป็นอีกครั้ง จึงทำให้ไม่หายเสียที
ในเรื่องนี้ นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เล่าเสริมให้ฟังว่า อาการดังกล่าวของน้องแก้วเกิดขึ้นจากการสัมผัสฝุ่นละอองและควันไฟจากการเผาขยะ ทั้งนี้ยังรวมถึงฝุ่นละอองจากเศษขยะโดยตรงได้อีก โดยถือเป็นการเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง นอกจากนั้น นายแพทย์โสภณยังได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า อันตรายที่เกิดขึ้นจากขยะเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ดังนี้คือ
-
ทางผิวหนัง อย่างกรณีของน้องแก้วแล้ว ยังรวมถึงการสัมผัสหรือจับต้องโดยตรงกับสารประกอบในผลิตภัณฑ์หรือขยะมีพิษบางตัว เช่น ยาฆ่าแมลง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ทำให้ซึมเข้าสู่ผิวหนัง กระแสเลือด และเข้าสู่ร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา
-
ทางการหายใจ จากการสูดดมกลิ่นขยะ ฝุ่นละออง ก๊าซหรือไอสารพิษจากขยะอันตรายบางชนิด เช่น สี ตัวทำละลาย น้ำมันรถยนต์ เมื่อเราหายใจเข้าไปก็จะเข้าไปสะสมอยู่บริเวณปอด แล้วจึงดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจหรือทำลายอวัยวะภายในได้
-
ทางเดินอาหาร โดยการรับประทานเข้าไปทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การได้รับสารพิษปนเปื้อนจากภาชนะใส่อาหารหรือจากมือ รวมถึงสารพิษที่สะสมในรูปของห่วงโซ่อาหารในพืชผักและเนื้อสัตว์ ซึ่งสารพิษเหล่านี้จะเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ยารักษาโรคที่หมดอายุแล้ว หรือสารเคมีที่ระบุว่ามีอันตราย
โรคร้ายที่มากับ "ภัยขยะ"
ผลการสำรวจของชีวจิตโพลโครงการ 6 ที่ระบุว่า คนในสังคมไทยรู้ว่าขยะที่ทิ้งก่อให้เกิดโรค แต่ไม่ทราบว่าขยะนั้นส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อร่างกายถึงร้อยละ 92.3 โดยโรคภัยที่มาจากขยะ4 อันดับแรก ได้แก่ ท้องร่วงท้องเสีย โรคภูมิแพ้ คลื่นไส้อาเจียน และปวดศีรษะ ตามลำดับ
ถึงแม้โรคที่เกิดจากขยะโดยตรงนั้น จะยังไม่ปรากฎการณ์ให้เห็นอย่างแน่ชัดนักในสายตาคนทั่วไป แต่จากข้อมูลการวิจัยที่ผ่านมา มีหลักฐานยืนยันว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงคือ กลุ่มคนผู้รับซื้อของเก่า ซาเล้ง ผู้คุ้ยขยะ คนเก็บขยะ และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง
จากงานวิจัยของ ศริศักดิ์ สุนทรไชย และวรรณวดี พูลพอกสิน ในปี2548 ชี้ถึงผลกระทบทางสุขภาพของกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับขยะใน 6 จังหวัด รวม 276 คน ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้สรุปให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดมีผลการตรวจสุขภาพไม่ปกติ และกลุ่มตัวอย่างทุกคนมีปริมาณแมงกานีสสูง รองลงมาคือ สารหนู ตะกั่ว และโครเมียม
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ คณะวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่สำรวจคนเก็บขยะชาวกัมพูชา ในปี 2531 และคนเก็บขยะชาวเวียดนามในปี 2543 พบว่า คนเก็บขยะโดยส่วนมากแล้ว มีอาการติดเชื้อและเป็นโรคเจ็บป่วยจากขยะมูลฝอยถึง 14 ชนิด ด้วยกัน เช่น อาการเจ็บคอ เป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย โรคผิวหนัง โรคมาลาเรีย โรคระบาดหลากหลายประเภท โรคหัวใจ โรคทางสมอง และอาการท้องร่วง เป็นต้น
การวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่คนเก็บขยะเท่านั้นที่ติดเชื้อโรคจากขยะ แต่ยังคงรวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
อันตรายจากเจ้าภัยขยะนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา จนก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้างนั้น มีคำตอบไว้ดังนี้ค่ะ ต่อตอนที่ 2
ที่มา :http://www.cheewajit.com/highlight.asp?hid=237