ข้าวขาหมูกับโรคอาหารเป็นพิษ
ข้าวขาหมูกับโรคอาหารเป็นพิษ
ในบรรดาอาหารเพิ่มน้ำหนักของคนสมัยนี้ จะต้องมีข้าวมันไก่และข้าวขาหมู เป็นตัวเอก ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าใช้มันไก่มาหุง และใช้ขาหมู ซึ่งเป็นส่วนที่มีไขมันมากที่สุดส่วนหนึ่ง
เป็นอาหารจานเดียวที่หาทานง่าย ราคาย่อมเยา พอที่จะสู้ไหวในราคา 35-40 บาท รสชาติของข้าวขาหมูเกือบทุกร้านจะคล้ายๆ กัน อาจแตกต่างกันที่เคล็ดลับที่สรรหามาปรุง ทำให้ข้าวขาหมูมีรสชาติแตกต่างกันบ้าง
ปกติเวลาซื้อมักจะเห็นมีกะละมังสำหรับตุ๋นขาหมูหลายๆ ขา ตั้งไฟอ่อนๆ ให้ร้อน และเคี่ยวไปเรื่อยๆ ให้เปื่อยนุ่มลิ้น ตรงนี้คงไม่ต้องระวังอะไรมาก เพราะขาหมูถูกอุ่นให้ร้อนตลอดเวลา ที่น่ากังวลคือ การหยิบจับอาหารของพ่อค้าแม่ค้านี่แหละ บางรายใส่ถุงมือ และผ้ากันเปื้อนอย่างดี
แต่บางรายไม่รักษาสุขลักษณะ ไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบจับหมู ผัก ไข่ จาน ชาม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่สัมผัสข้าวขาหมู บางรายวางเครื่องเคียงต่างๆ บนพื้นสกปรก
เหล่านี้นับเป็นต้นตอที่ทำให้ข้าวขาหมูปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ได้แก่ เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ท้องปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง ตะคริวที่ท้อง ชักกระตุก หนาวสั่น อ่อนเพลีย ช็อก และอาจเป็นลมได้
ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาสำหรับอาหารทั่วไป กำหนดให้อาหาร ปรุงสุกพบเชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ได้ไม่เกิน 100 MPN/กรัม
เมื่อดูผลการทดสอบ จากการสุ่มตัวอย่างข้าวขาหมู 5 ตัวอย่าง จากพื้นที่ 5 เขตของกรุงเทพฯ พบว่ามีข้าวขาหมู 3 ตัวอย่าง ที่พบการปนเปื้อนของเชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส และ 2 ใน 3 พบเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด
ถึงตรงนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ต้องสร้างความเข้าใจและให้ความรู้กับผู้ประกอบการในเรื่องสุขลักษณะต่างๆของการปรุงอาหาร เพื่อป้องกันความเสี่ยงและอันตราย ที่อาจเกิดกับผู้บริโภคตาดำๆ อย่างเราๆ...
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย