SELECT autopage4_data_topic.IdTopic , autopage4_page_topic.DataDetail , autopage4_page_topic.TitleDetail FROM autopage4_page_topic INNER JOIN autopage4_data_topic ON autopage4_data_topic.IdTopic = autopage4_page_topic.IdTopic AND autopage4_data_topic.IdTopic = 106

เหตุระทึก...พยาบาลใจอาสา


เหตุระทึก...พยาบาลใจอาสา




คงไม่ใช่เรื่องง่าย...ที่ใครจะทำงาน ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง อย่างเธอทั้งสอง แม้จะรู้สึกหดหู่ กับสภาพผู้บาดเจ็บ หรือศพที่ไม่น่ามอง  แต่ก็ต้องตั้งสติรับสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตคนในเหตุการณ์ความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กัณทิมา อัลอิดรุส หัวหน้าพยาบาล กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา จ. ยะลา เคยถูกพ่อขอร้องให้ย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงในโรงพยาบาลดังกล่าว แต่เธอก็ไม่อาจทิ้งภาระหน้าที่และน้องๆ พยาบาลที่ดูแลมานานกว่า 20 ปี
ส่วน รัตนา รัตนเหม หัวหน้าพยาบาล งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลเดียวกัน เธอเป็นพยาบาลรายแรกที่ปีนเข้าไปในรถตู้ เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ยิงรถตู้เมื่อปี 2550  หลังจากตำรวจเคลียร์พื้นที่แล้ว

 ทั้ง สองมักจะออกเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่เสี่ยงด้วยกัน โดยให้เหตุผลคล้ายกันว่า เราเป็นหัวหน้างานจะปล่อยให้ลูกชาวบ้าน (พยาบาลรุ่นน้อง) ไปเสี่ยงได้อย่างไร

ไม่ ต้องสงสัยว่า ภาระหน้าที่ของพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงมีมากมายขนาดไหน ทั้งดูแลจัดการเรื่องคนเจ็บ ตกแต่งศพ บางคนศีรษะขาด ต้องช่วยกันเย็บให้สภาพเหมือนเดิม รวมถึงทำความสะอาดศพ และเยียวยาจิตใจญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต
หาก ไม่มีใจเมตตากรุณาและมีสติพอ คงทำงานนี้ได้ยากยิ่ง และใช่ว่า ทั้งสองจะไม่กลัวความตาย แต่ระหว่างความเป็นความตาย เธอเลือกที่จะเป็นที่พึ่งของผู้อื่น

ทำไมถึงเข้ามาทำงานในวิชาชีพพยาบาลเขตพื้นที่ความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
รัตนา :  เริ่มจากทำงานที่โรงพยาบาลศรีสาคร จ.นราธิวาส ในพื้นที่สีแดง อยู่ที่นั่นกว่าสิบปี ช่วงนั้นก็มีเหตุการณ์ครูถูกยิง ตอนนั้นโจรอยู่ในป่า แต่ตอนนี้โจรอยู่ในเมือง จนได้มาอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา จ.ยะลา ดูแลผู้ป่วยวิกฤติ บางกรณีช่วยแล้วรอดก็รู้สึกดี แต่พอตายก็เศร้า ก็ต้องทำใจ เพราะต้องดูแลจิตใจญาติผู้ป่วยด้วย เคยออกชุมชนไปสอนภาษาไทยคนอิสลาม ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่พยาบาล แต่เราชอบที่จะทำ

กัณทิมา : พ่ออยากให้เป็นพยาบาล ทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหานานกว่า 26 ปี แรกๆ เทคโนโลยีก็ไม่มี เวลาลงชุมชนกับหน่วยงานอื่น มีฉายหนังกลางแปลง ช่วงพักพวกเราก็สอนเรื่องสุขอนามัย ถ้าเป็นพื้นที่อันตราย ชาวบ้านก็มาบอกว่าอย่าเพิ่งเข้ามา ช่วงปี 2526 ก็มีการเรียกค่าคุ้มครองบ้างในพื้นที่ต้องห้าม บางวันชาวบ้านเหยียบกับระเบิดหรือไม่ก็โดนลอบยิ่ง แต่ไม่รุนแรงเหมือนปัจจุบัน

การตกแต่งศพจำนวนมากที่มีสภาพไม่น่าดูนักการทำงานช่วงแรกลำบากไหม
รัตนา : ถ้าถูกยิงที่ศีรษะ บางครั้งกะโหลกแตกหรือยุบ เราต้องตกแต่งให้ได้รูปศีรษะ ถ้าตกแต่งไม่ได้ก็ต้องยัดสำลี แต่ศพคนมุสลิมต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมในร่างกายก่อนฝัง บางศพโดนยิง แล้วถูกตัดคอ ก็ต้องช่วยกันเย็บกระดูกคอ  หมอเขียวแพทย์แผนไทยมักจะติดไปกับพวกเรา แรกๆ ก็ช่วยหยิบของ ถ้าศพเยอะทำไม่ทัน พี่เขียวก็ช่วยเย็บศพ

กัณทิมา :  ถ้าหัวและตัวของคนตายอยู่คนละแห่ง ญาติคงช็อก เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด เราต้องตกแต่งศพให้สภาพเหมือนเดิมมากที่สุด ต้องคำนึงถึงเรื่องจิตวิญญาณและความเชื่อศาสนา ศพชาวมุสลิมจะเปิดเผยมากไม่ได้ เราต้องถามผู้รู้ในศาสนา ถ้าเป็นศพไทยพุทธ ต้องมีผ้าขาวห่อศพ มีประเพณีจุดธูปนำศพขึ้นรถ
รัตนา : ตอนนั้นผู้นำศาสนามาบ่นว่า เราดูแลศพมุสลิมไม่ดีเลย เราก็ต้องคุยกับผู้นำศาสนาว่า ศพคนมุสลิมต้องทำยังไงบ้าง นอกจากเรื่องทำความสะอาดศพ มัดตัวแขนให้ตรง ต้องปิดรูต่างๆ และห้ามมีสิ่งแปลกปลอมภายใน ก่อนตกแต่งศพต้องขออนุญาตญาติพี่น้อง ถ้าศพไม่มีญาติต้องขออนุญาตผู้นำศาสนา บางศพญาติค่อนข้างเคร่งครัด ก็ให้พยาบาลมุสลิมทำความสะอาดศพให้ภายใน 24 ชั่วโมง

การทำงานในพื้นที่เสียงพยาบาลตั้งรับกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง
รัตนา : คนที่ตายมีทั้งมุสลิมและไทยพุทธ ทำให้เรารู้สึกหดหู่ ผู้ชายบางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว แล้วคนที่เหลือจะอยู่อย่างไร สถานการณ์ตอนนี้ชาวบ้านไม่กล้าออกไปกรีดยาง ไม่กล้าไปสวนเก็บผลไม้ ปล่อยทิ้งๆ ไปเลย

กัณทิมา : ถ้าเป็นคนตายจากเหตุการณ์ความรุนแรง ต้องเพิ่มเรื่องการตกแต่งศพให้เหมือนปกติมากที่สุด มีอุปกรณ์เย็บศพโดยเฉพาะมีสัญญาณฉุกเฉินเรียกเจ้าหน้าที่ พอได้ยินสัญญาณต้องรีบมาทันที

เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลบ้างไหม
รัตนา : เราได้บทเรียนจากโรงพยาบาลใน จ.ยะลา เรื่องการแย่งศพเมื่อปี 2550 มีคนพังประตูห้องฉุกเฉินระหว่างการชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกั้นไว้ได้ มีการเทิร์นศพขึ้นเหนือหัวไหล่ไปตามฝูงชน จึงต้องมีมาตรการดูแลศพ เราไม่สนใจว่าเป็นฝ่ายไหน อีกอย่างการชันสูตรศพสามจังหวัดความรุนแรงภาคใต้ ทุกศพต้องนำมาที่โรงพยาบาล เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง แพทย์ไม่กล้าออกไปในพื้นที่

กัณทิมา : จำได้ว่า เมื่อปี 2550 ตอนเช้ามีเหตุการณ์ยิงคนในรถตู้ตายแปดศพ ตอนกลางคืนระเบิดมัสยิดและยิงกันที่ร้านน้ำชา ตอนนั้นเรากำลังเตรียมตัวเข้าไปทำงาน มีทหารตำรวจในโรงพยาบาลเยอะมาก ถ้าไม่เข้าไปก็ไม่ได้ เพราะน้องๆ พยาบาลทำงานหนักทั้งคืนแล้ว วันนั้นมีชาวบ้านเต็มไปหมด แต่เหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี ตอนนั้นเรากลัวเรื่องการชิงศพหรือคนป่วย

สถานการณ์ยิงคนในรถตู้เสียชีวิตแปดศพมีส่วนเข้าไปช่วยเหลืออย่างไรบ้างคะ
รัตนา : เดือนมีนาคม ปี 2550 ตอนนั้นเรากำลังออกเยี่ยมชุมชน มีโทรศัพท์จากโรงพักว่า ให้ช่วยออกไปรับคนเจ็บ ตอนนั้นตำรวจไม่สามารถเคลียร์พื้นที่ได้เร็ว เพราะมีตะปูเรือใบปิดหัวและท้ายระหว่างรถตู้ และมีต้นไม้ใหญ่ขวางทาง การเกิดเหตุลักษณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปเคลียร์พื้นที่ก่อน จากนั้นเป็นหน้าที่หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือจากโรงพยาบาล ส่วนกลุ่มที่จะเข้าไปในพื้นที่ครั้ง 3-4  ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและสื่อมวลชน
สภาพ ที่เราเห็นคือ รถตู้อยู่ในสภาพดี ตะแคงติดกับต้นไม้ใหญ่ที่ขวางไว้ คนในรถตู้ไม่สามารถเปิดประตูได้ ถ้าไม่มีต้นไม้รถตู้คันนั้นจะตกเหว ประตูหลักเปิดอยู่ เราต้องปีนด้านหลังเข้าไป คนรอดในเหตุการณ์นั้น คือ คนขับและผู้หญิงที่นั่งข้างหน้าและเปิดประตูได้ ส่วนคนอื่นตายหมด ตอนนั้นเราบอกตำรวจว่า ช่วยทุบกระจกเพื่อเอาศพออกมาก่อน ตำรวจบอกว่า ผมไม่กล้าทุบ ถ้ารถตู้ไม่มีประกันก็ต้องรับผิดชอบ แต่เราบอกว่า ถ้ามีคนเจ็บต้องรีบเอาออกมาก่อน ตำรวจก็กังวลเรื่องการประกันรถ

สถานการณ์ตอนนั้นสิ่งที่พยาบาลต้องทำอันดับแรกคืออะไร
รัตนา : ต้องดูว่ามีคนเจ็บไหม เราเห็นศพเด็ก และศพที่ตายแบบทรมานนั่งหลังคนขับ พ่อคนหนึ่งพยายามซุกตัวลูกไว้ด้านล่าง แต่ก็ตาย
กัณทิมา : กรณีมีคนเจ็บเยอะๆ โรงพยาบาลจะมีแผนรับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการแบ่งโซนว่า บาดเจ็บมากหรือน้อย วันนั้นพอคนเจ็บสองคนจากเหตุการณ์ยิงรถตู้มาถึงโรงพยาบาล เราก็กระโดดขึ้นไปบนรถ พยายามจับสัญญาณชีพจรผู้หญิงที่ถูกยิงที่คอ แต่หาชีพจรไม่เจอเลย เธอรับรู้ว่า มีคนอยู่ข้างๆ เหมือนเธอยื้อกับความตาย ตอนนั้นขนลุกมาก เรากำลังจะแยกไปโซนดำคือ ไม่มีสัญญาณชีพจร ตัวเย็นมาก เธอช็อกแต่ก็พยายามลืมตา จึงรู้ว่ายังมีชีวิตก็เข็นเข้าห้องฉุกเฉิน รายนี้ไม่ตาย แต่พูดไม่ได้ เพราะถูกตัดเส้นเสียง เป็นแม่ของเด็กหน้าตาน่ารักที่ถูกยิงตาย

ตั้งสติกับสถานการณ์อย่างไรบ้าง
รัตนา : กรณียิงรถตู้สะเทือนใจมากๆ ตอนลงไปที่เกิดเหตุ ไม่ได้ร้องไห้เลย เพราะรู้สึกว่า ถ้าเราร้องไห้คนอื่นก็ต้องร้องตาม แต่พอถึงบ้านก็นั่งร้องไห้

กัณทิมา : ถ้าอยู่ในสถานการณ์จะไม่ร้องไห้ แต่พอถึงบ้านก็ร้องไห้หนัก นึกไปถึงญาติพี่น้องเขา หลายเหตุการณ์เราต้องจัดการดูแลทรัพย์สินของคนตาย มีรายหนึ่งถอดเสื้อชั้นในออกก็มีเงินหล่นลงมา เราก็ช่วยกันนับและเป็นพยานว่ามีทรัพย์สินเท่าไหร่ แยกใส่ถุงไว้ ตอนนั้นผู้หญิงที่ตายมีเงินสองหมื่นกว่าบาท เพื่อนำมาให้ลูกลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รู้สึกกลัวไหม
รัตนา : เป็นคนไม่ค่อยกลัวอะไร พี่คนหนึ่งที่โรงพยาบาลบอกว่า ไม่เห็นด้วยที่เราออกไปรับคนไข้ในพื้นที่เพราะมันเสี่ยง ถ้าไม่ออกไปก็ไม่ผิด ถ้าเราไม่ไปน้องๆ จะกลัว ถ้าเราปล่อยให้ลูกหลานคนอื่นไป แล้วเราคงรับผิดชอบไม่ไหว มีอยู่ครั้งหนึ่งต้องไปรับตำรวจที่ถูกยิง คนขับรถหันมาถามว่า ෳไม่กลัวหรือ มีระเบิดนะ ෳ เราก็บอกไปว่า ทำดี ก็ต้องได้ดี

กัณทิมา : เราพยายามไม่ให้น้องๆ ที่ทำงานออกไป เพราะเหนื่อยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะพื้นที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เราสองคนก็จะออกไปด้วยกัน

ต้องทำหน้าที่เยียวยาจิตใจญาติพี่น้องที่สูญเสียคนในครอบครัวด้วย ?
กัณทิมา : ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ กรมสุขภาพจิตก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล เดิมก็ดูแลกลุ่มคนที่สูญเสียครอบครัวสร้างเครือข่ายมีนักจิตวิทยามาทำงาน ถ้าญาติต้องสูญเสียคนในครอบครัวก็จะร้องไห้ฟูมฟาย พยาบาลฉุกเฉินก็ดูแลผู้ป่วยไป อีกกลุ่มก็ต้องดูแลจิตใจญาติ
จำได้ว่าปี 2548-2549 มีตำรวจหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงและเสียชีวิตในห้องฉุกเฉิน  โทรศัพท์ในกระเป๋าดังขึ้น แม่ของเขาโทรมาไม่มีคนรับ 14 ครั้ง ตำรวจรุ่นพี่ก็ไม่กล้ารับ ช่วงนั้นยังไม่มีทีมสุขภาพจิต เราพอมีประสบการณ์การให้คำปรึกษาคนป่วยเอชไอวีบ้าง ก็ประเมินคนฟัง บอกน้องสาวตำรวจคนนั้นว่า อาการค่อนข้างสาหัส หมอกำลังช่วยชีวิต ในที่สุด บอกความจริงว่า พี่ชายเขาเสียชีวิตแล้ว ตอนทำความสะอาดศพตำรวจคนนั้น เราน้ำตาร่วงเลย เขามีชายผ้าถุงแม่ห้อยคอ และเราต้องเบิกธงชาติไทยจากหน่วยพัสดุ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าต้องให้ผู้บังคับบัญชามาทำพิธีคุมผ้าศพ กัณทิมาก็คลี่ธงชาติคุมให้เลย

หนักใจเรื่องไหนมากที่สุดคะ
กัณทิมา : การสูญเสียชีวิตไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ก็รู้สึกหดหู่ พยาบาลจบใหม่จะไม่ให้อยู่ในห้องฉุกเฉิน เพราะจะไม่ค่อยมีสติ  ไม่ควรมายืนร้องไห้กับญาติ ถ้ามีประสบการณ์มากขึ้นก็จะตั้งหลักได้ แต่ไม่ว่าคนเจ็บจะเป็นโจรหรือตำรวจเราก็ต้องช่วยชีวิต



: เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
 ที่มา กรุงเทพธุรกิจ กาย ใจ  วันที่ 24 สิงหาคม 2551