พ่อแม่กับสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน
พ่อแม่กับสุขภาพจิตเด็กวัยเรียน
ที่มา : สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
เยาวนาฏ ผลิตนนท์เกียรติ. บทความสุขภาพจิต 14
ෳเด็กไทยวันพรุ่งนี้෴. โรงพิมพ์การศาสนา. 2534, หน้า 1 -5.
การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน หากจะมุ่งมั่นให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน เช่น มีสุขภาพแข็งแรง ฐานะเศรษฐกิจที่มั่นคง มีการศึกษาดี เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งคือ การมีสุขภาพจิตที่ดี มีจิตใจเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาและเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ บางคนมีสุขภาพแข็งแรง มีฐานะมั่นคง แต่ปรากฏว่าสุขภาพจิตไม่ดี จิตใจอ่อนแอ ไม่สามารถทนทานต่อความเครียด ความกดดันต่างๆ ตามสมควร ผู้นั้นย่อมต้องประสบความล้มเหลวในการดำเนินชีวิต
การที่จะส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้ในระยะเวลาอันสั้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กและมีแนวทางที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นสำคัญ พ่อแม่ที่อยากให้ลูกเป็นเด็กดีมีความสุข ก็จำเป็นต้องให้ความรัก ความอบอุ่น คอยจูงใจชักนำให้ทำสิ่งที่ดีงาม พูดจาให้เหตุผล ทำตนเป็นตัวอย่าง พยายามปลูกฝังให้เด็กสามารถผูกมิตร พิชิตอุปสรรค และรู้จักพอใจ เด็กจึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต
ในด้านสุขภาพจิตสำหรับเด็กวัยเรียน ซึ่งมีอายุระหว่าง 7-11 ปี เป็นวัยที่พ่อแม่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าเด็กวัยนี้พอจะพึ่งตนเองได้บ้างแล้ว และไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพจิตที่ค่อนข้างรุนแรงปรากฏบ่อยนัก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญเนื่องจากพ่อแม่สามารถจะส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะต่างๆ ได้หลายประการ คือ
เด็กในระยะนี้เป็นวัยแห่งการฝึกหัดและแสดงความสามารถ จึงเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะสนับสนุนเด็กให้เกิดความสนใจใฝ่เรียนรู้ ฝึกทักษะความสามารถพิเศษต่างๆ ซึ่งการหมั่นฝึกฝนก็จะเกิดความเชี่ยวชาญได้
ระยะนี้เป็นวัยแห่งการเสริมสร้างจริยธรรม เด็กจะเชื่อฟังพ่อแม่ ครูอาจารย์ และปฏิบัติตามที่สอนสั่งอย่างเคร่งครัด ประกอบกับเด็กเริ่มเข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรม เชื่อมโยงได้ว่าหากทำเช่นนี้จะเกิดผลดีอย่างไร อะไรเป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสเหมาะที่พ่อแม่จะหล่อหลอมจิตใจเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรมได้
เป็นวัยแห่งการเลียนแบบ การที่เด็กต้องไปอยู่กับสังคมนอกบ้าน ทำให้เด็กต้องมีบทบาทอื่นๆนอกเหนือจากบทบาทในครอบครัว เด็กผู้ชายต้องสามารถแสดงบทบาทของผู้ชาย ซึ่งเด็กจะเลียนแบบจากพ่อเด็กรู้ว่าสุภาพบุรุษเป็นอย่างไร ก็ได้จากการดูพ่อเช่นกัน ส่วนเด็กผู้หญิงจะเลียนแบบของการเป็นผู้หญิงในสังคมและแม่บ้านจากแม่ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดพ่อกับแม่ต้องใกล้ชิดลูกและเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
เด็กในวัยนี้เป็นวัยแห่งการสร้างความภาคภูมิใจ ความภาคภูมิใจเป็นความสุขที่เกิดขึ้นเมื่อได้ทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จตามความมุ่งหวัง เด็กวัยเรียนเป็นเด็กที่เริ่มแสดงความสามารถของตนเองหลายๆ ด้านให้ผู้อื่นเห็น ความสำเร็จของเขาคือความภาคภูมิใจที่จะเกิดขึ้นโดยมีพ่อแม่เป็นผู้ให้การสนับสนุน ดังนั้นพ่อแม่ต้องช่วยกันแนะนำและเชิดชูความสามารถของลูก
เด็กในระยะนี้เป็นวัยแห่งการผูกมิตร เด็กวัยเรียนมีโอกาสได้พบปะกับคนทั้งที่คุ้นเคยและแปลกหน้า เด็กต้องมีความมั่นใจในตัวเองและเป็นตัวของตัวเองจึงจะสามารถพูดคุยสนทนากับผู้อื่นได้ ซึ่งเด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากครอบครัว โดยพ่อแม่แนะแนววิธีผูกมิตรและปฏิบัติตนต่อมิตรในทางที่ถูกที่ควร
การที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้คุณลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้พ่อแม่ต้องมีความผูกพัน รักใคร่ในครอบครัวเป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากเด็กวัยเรียนต้องการความรักความอบอุ่นในครอบครัวเหมือนกับเด็กวัยอื่นๆ ความรักใคร่กลมเกลียวระหว่างพ่อแม่และความรักความเข้าใจที่พ่อแม่มีให้กับเด็กจะทำให้เด็กอยู่ในบ้านอย่างมีความสุขชื่นชมนิยมพ่อแม่ อยากเลียนแบบ อยากเป็นคนดี อยากทำในสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังเพื่อพ่อแม่จะได้ภูมิใจในตัวเด็ก และอยากแสดงความสามารถหรือทักษะต่างๆ ให้ประจักษ์ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและสนับสนุนให้เด็กเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีได้
ได้มีการศึกษาวิจัยหลายฉบับที่พบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นมักจะเป็นเด็กที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต ส่วนเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ดีมักจะมาจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กไม่ดีอันเป็นทางทำลายสุขภาพจิตของเด็ก การศึกษาในเรื่องนี้เท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญที่พ่อแม่มีต่อเด็กให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่ในปัจจุบันสังคมที่ผกผันและเศรษฐกิจที่บีบรัดทำให้พ่อแม่ต้องรับภาระหนักในการทำงาน ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปอยู่นอกบ้าน เวลาที่จะใกล้ชิดดูแลเอาใจใส่ลูกมีน้อยลง จึงเป็นที่น่าเสียดายที่คุณลักษณะต่างๆของเด็กวัยเรียนไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความห่างเหินระหว่างพ่อแม่กับลูกมีมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งระหว่างเด็กกับพ่อแม่ได้
ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นกับเด็กได้หลายประการด้วยกัน เด็กที่มีพื้นฐานทางจิตใจปกติอาจจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ให้ความสนใจในความเป็นอยู่ จึงเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ห่างเหิน ถึงเวลาอยู่บ้านก็ต่างคนต่างอยู่ทำกิจกรรมของตนเอง เมื่อมีปัญหาก็ไม่รู้จะพูดให้พ่อแม่เข้าใจได้อย่างไรหรือพยายามเล่าหลายๆ ครั้งก็ยังไม่มีใครรับฟัง เด็กบางคนอาจจะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ด้วยการออดอ้อนหรือทำท่าทางแปลกๆ ให้พ่อแม่สนใจก็กลับได้รับการเฉยเมยหรือดุว่าซน จุกจิกจู้จี้ สำหรับเด็กมีพื้นฐานทางจิตใจไม่ดีอาจจะแสดงพฤติกรรมในทางลบ เช่น ก้าวร้าว ดื้อดึง ทำลายของใช้ของเล่น หรือมีความผิดปกติอื่นๆ ที่รุนแรงยิ่งขึ้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมลักษณะที่ดีต่างๆ และป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของเด็กวัยเรียนไม่ให้เกิดขึ้นพ่อแม่น่าจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นและมั่นคงด้วยการใช้เวลาที่พ่อแม่สามารถจะให้กับเด็กได้อย่างมีคุณภาพและสม่ำเสมอต่อเนื่องกัน ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติได้ดังนี้
ให้การต้อนรับเมื่อเด็กเข้ามาพูดคุยด้วย สัมผัส โอบกอดด้วยท่าทางที่รักใคร่ยิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อให้เด็กเกิดความอบอุ่น
พูดคุยเรื่องที่เด็กสนใจหรือร่วมทำกิจกรรมที่เด็กชอบ เช่น กีฬา ดูทีวี ฟังเพลง จะทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นพวกเดียวกับเขา และมีเรื่องราวมาพูดคุยกับพ่อแม่ได้บ่อยๆ
เมื่อสังเกตพบว่าเด็กมีความทุกข์หรือไม่สบายใจ พ่อแม่ต้องสอบถามเรื่องราวให้ชัดเจนและให้ความช่วยเหลือ เด็กในวัยเรียน เมื่อเกิดความกังวลหรือทุกข์ใจมักจะมีท่าทางซึมเศร้า ไม่ร่าเริงตามที่เคยเป็นบางคนก็จะร้องห่มร้องไห้ ปัญหาที่เด็กไม่สบายใจก็มักจะเป็นเรื่องการเรียน การคบเพื่อน ความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง พ่อแม่ควรชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กและแนะนำหาทางออกที่เหมาะสม
เด็กวัยนี้มักมีปัญหาเรื่องการปรับตัว เนื่องจากเด็กเพิ่งจะออกไปพบกับสังคมนอกบ้าน เด็กอาจจะทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าวเพื่อน ไม่สัมมาคารวะผู้ใหญ่ ซุกซนอยู่ไม่สุข หากพ่อแม่อธิบายถึงเหตุผลบอกวิธีการที่ชัดเจน เด็กก็จะอยู่ในสังคมนอกบ้านได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการกระทำบางอย่างของพ่อแม่ที่มักจะสร้างความกดดันให้กับเด็ก การกระทำเช่นนี้บั่นทอนความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกให้น้อยลง ซึ่งพ่อแม่อาจจะทำไปด้วยความโกรธหรือไม่รู้ตัว จึงควรสนใจและระมัดระวัง ดังนี้
เมื่อพ่อแม่เกิดความเหน็ดเหนื่อยหรือเครียด มักจะอารมณ์เสีย หงุดหงิด ตวาดหรือไล่ให้เด็กไปไกลๆ การกระทำเช่นนี้อาจจะทำให้เด็กตกใจเนื่องจากไม่เข้าใจถึงสาเหตุและทำให้ไม่กล้ามาหาพ่อแม่ หากพ่อแม่เหนื่อยหรือเครียด ไม่อยากพบใคร พ่อแม่ควรหาทางพักผ่อนในสถานที่ๆ เป็นส่วนตัวหรือพูดตรงๆ กับเด็กว่า วันนี้พ่อแม่เหนื่อย ให้เด็กเล่นของเล่นไปก่อน พ่อแม่จะพักผ่อน
เมื่อเด็กทำสิ่งใดล้มเหลว หรือพ่อแม่อยากให้เด็กทำสิ่งใดให้สำเร็จ พ่อแม่มักจะพูดจาดูถูกเปรียบเทียบกับคนบ้านอื่นหรือพี่น้องคนอื่น พ่อแม่บางคนพูดประชดประชันให้เกิดความเจ็บใจ หรือบางคนใช้วิธีการลงโทษด้วยความรุนแรง เด็กจะรู้สึกมีปมด้อย สู้คนอื่นไม่ได้ พ่อแม่เกลียดชัง ทำให้ขาดกำลังใจและสมรรถภาพด้านต่างๆ ด้อยลง
การที่จะให้เกิดผลในการปฏิบัติอย่างจริงจัง พ่อแม่อาจจะต้องลองสังเกตคำพูดหรือการกระทำของตนเองว่า ได้แสดงให้เด็กเห็นว่าพ่อแม่รัก มีความสนใจหรือมีความเข้าใจในตัวเขาบ้างหรือไม่ หากพ่อแม่ยังไม่ได้แสดงให้เด็กเห็นได้อย่างชัดเจน คงต้องเริ่มกระชับความสัมพันธ์เสียตั้งแต่วันนี้ เพราะการดูแลให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นภาระหน้าที่ของพ่อแม่โดยตรง
ที่มา http://www.edba.in.th/EDBA_M/index.php?option=com_content&view=article&id=880