SELECT autopage4_data_topic.IdTopic , autopage4_page_topic.DataDetail , autopage4_page_topic.TitleDetail FROM autopage4_page_topic INNER JOIN autopage4_data_topic ON autopage4_data_topic.IdTopic = autopage4_page_topic.IdTopic AND autopage4_data_topic.IdTopic = 1487

7 วิธีฝึกลูกให้เป็นเด็กอัธยาศัยดี มีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ



ฝึกลูกให้เป็นเด็กมีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ ทำได้ไม่ยาก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          วิธีฝึกลูกให้เป็นเด็กอัธยาศัยดี มนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ เพราะเด็ก ๆ ที่มีความเป็นมิตรสูงมักจะอยู่ร่วมกับคนในสัมคมได้อย่างเป็นสุข พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูกน้อยจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ

          พัฒนาการทางด้านสมองและจิตใจของลูกควรต้องเจริญเติบโตควบคู่กันไป คุณพ่อคุณแม่เลยต้องเสริมทั้งทักษะทางวิชาการและทักษะทางอารมณ์ให้กับลูกน้อยอย่างเต็มที่ ทว่าหากลูกน้อยยังดูไม่ค่อยมีความมั่นใจเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อน หรือชอบเก็บตัวเล่นคนเดียวเงียบ ๆ คุณพ่อคุณแม่ลองฝึกให้ลูกเป็นเด็กอัธยาศัยดี และมีมนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศตามวิธีเหล่านี้ดูสิคะ

 1. อยู่เคียงข้างและคอยให้กำลังใจเขา
         
          ความมั่นใจในตัวเองเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดให้เด็ก ๆ เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี ซึ่งในจุดนี้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนช่วยเขาได้มากเลยทีเดียวค่ะ เช่น เป็นกองหนุนที่คอยให้กำลังใจกับกิจกรรมที่ลูกทำ คอยปลอบโยนและอยู่เคียงข้างเขาในยามที่เขารู้สึกแย่หรือผิดหวังกับอะไรบางอย่าง ให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่เข้าใจเขาอยู่เสมอ ผลักดันให้เขากล้าออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นต่อไปอีกไม่รู้จบ ซึ่งก็จะส่งผลไปถึงทักษะการเข้าสังคมอื่น ๆ ตามมาด้วย

 2. ชวนเพื่อนของลูกมาที่บ้าน

          เด็ก ๆ จะฝึกทักษะการเข้าสังคมได้อย่างเต็มที่มากขึ้นเมื่ออยู่ที่บ้าน เพราะการได้อยู่ในที่ของตัวเองแถมแวดล้อมไปด้วยคนในครอบครัวจะช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือในช่วงปิดเทอมที่คุณว่าง ลองอาสาไปรับเพื่อน ๆ ของลูกมานั่งเล่นที่บ้านของคุณก็ได้ค่ะ

 3. ฝึกมารยาททางสังคมเบื้องต้นให้เขา

          สำหรับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คนอาจได้เปรียบในข้อนี้ เพราะการได้เล่นและสื่อสารกับคนในวัยใกล้เคียงกันจะช่วยฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมไปด้วยในตัว แต่สำหรับครอบครัวที่มีลูกคนเดียวก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถสอนให้เขารู้จักมารยาททางสังคมได้เหมือนกัน ง่าย ๆ ก็คอยสอนให้เขาพูดจาเพราะ ๆ ไม่ให้พูดคำหยาบคาย สอนให้เขารู้จักแบ่งปันของเล่นและอาหารให้เพื่อนที่โรงเรียน หรือจะฝึกทักษะการเข้าสังคมเบา ๆ ให้เขาด้วยการหาสัตว์เลี้ยงมาให้ลูกเลี้ยงดูก็ช่วยได้เยอะเหมือนกัน

 4. มอบรางวัลเป็นกำลังใจ

          ในกรณีที่ลูกแสดงความมีน้ำใจกับเพื่อนในห้องเรียนหรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้านก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับเขาสักชิ้น เพื่อตอบแทนความดีที่เขาได้ทำ เจ้าตัวน้อยของคุณจะได้มีกำลังใจทำดีต่อไป พร้อมกันนั้นก็เรียนรู้ได้ว่าความมีน้ำใจของเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจะได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างเสมอ

 5. จัดปาร์ตี้กระชับความสัมพันธ์

          อย่างที่บอกว่าทักษะการเข้าสังคมจะถูกกระตุ้นก็ต่อเมื่อได้เจอผู้คนเยอะ ๆ มีการสื่อสารกันเป็นประจำ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นงานวันเกิดลูกสุดที่รักหรือโอกาสสำคัญอื่น ๆ ก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ลองจัดงานปาร์ตี้ที่มีเพื่อนของลูก เพื่อนบ้าน และญาติพี่น้องในครอบครัวรวมตัวกันเยอะ ๆ แค่นี้เจ้าตัวน้อยของคุณก็เหมือนมีสนามประลองทักษะการเข้าสังคมแล้วล่ะ

 6. อย่ายัดเยียด

          แม้จะอยากฝึกให้ลูกมีทักษะทางสังคมมากแค่ไหน แต่ต้องไม่ลืมว่าเด็ก ๆ ก็มีขีดจำกัดในทุกเรื่องเหมือนกับผู้ใหญ่อย่างเรานี่ล่ะค่ะ ฉะนั้นหากเด็ก ๆ เหนื่อยหรืออยู่ในอารมณ์ที่ต้องการอยู่คนเดียว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรคะยั้นคะยอให้เขาออกไปพบปะผู้คน แต่เว้นช่วงเวลาให้เขามีความเป็นส่วนตัวบ้าง เพื่อให้เขาได้พัฒนาทักษะการเข้าสังคมอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

 7. สอนให้เขาเข้าใจความแตกต่างจากคนรอบข้าง

          วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมมักหล่อหลอมให้คนมีนิสัยที่แตกต่างกันไม่มากก็น้อย ซึ่งก็เท่ากับว่าลูกของคุณอาจต้องเจอกับความแตกต่างที่ว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เข้าเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างของแต่ละคนไว้ก่อน เมื่อเด็ก ๆ มีความเข้าใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาก็สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างไม่ยากเย็นแล้วล่ะค่ะ

          ทักษะการเข้าสังคมที่ดีไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็ก ๆ อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างผาสุขเท่านั้น แต่การมีมนุษยสัมพันธ์และอัธยาศัยที่ดียังเป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของลูกรักด้วยนะคะ ฉะนั้นหากลูก ๆ ของคุณยังชอบเก็บตัวเงียบ มีเพื่อนน้อย ลองนำวิธีเหล่านี้ไปกระตุ้นทักษะทางสังคมของเจ้าตัวเล็กกันดีกว่า

ที่มา
http://baby.kapook.com/เรื่องน่ารู้คุณลูก-97394.html