ยาปราบ'ไข้ง่วงหลับ'
ยาปราบ#o#ไข้ง่วงหลับ#o#
WHO เผยผู้ป่วย 5-7 หมื่นคนต่อปี
ลอนดอน : นักวิจัยอังกฤษและแคนาดาประสบความสำเร็จในการพัฒนายาต้านโรคไข้ง่วงหลับ โรคร้ายที่ระบาดหนักในแอฟริกา คาดทำการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ภายใน 18 เดือน
นักวิจัยอังกฤษและแคนาดาร่วมมือกันในโครงการศึกษาวิจัย ณ มหาวิทยาลัยดันดีของสกอตแลนด์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาที่จะใช้รักษาโรคไข้ง่วงหลับ(sleeping sickness) ได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากโรคร้ายชนิดนี้แพร่ระบาดหนักในแอฟริกา ทำให้มีผู้ป่วยประมาณ 60,000 คนต่อปี นับเป็นการค้นพบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับโรคร้ายที่ไม่ได้รับความสนใจจากเหล่าบริษัทยายักษ์ใหญ่ต่างๆ โดยยาดังกล่าวทำงานพุ่งเป้าโจมตีเอนไซม์ที่ปรสิตต้นเหตุของโรคจำเป็นต้องใช้เพื่อความอยู่รอดคาดว่ายาในรูปของยารับประทานจะพร้อมทำการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ได้ภายในระยะ 18 เดือน
ทั้งนี้ โรคไข้ง่วงหลับแพร่ระบาดโดยมีแมลงดูดเลือดชื่อว่า tsetse (ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glossina palpalis) เป็นพาหะนำปรสิต Trypanosoma gambiense ไปสู่คนหรือสัตว์เลี้ยงที่ถูกกัด เมื่อตัวปรสิตแพร่สู่ร่างกายคนมันจะแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วภายใน 8 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคมาลาเรียและวินิจฉัยยากโดยมีไข้สูง ร่างกายหนาวสั่น มีอาการปวดศีรษะรุนแรงจนอาเจียน ชัก พูดละเมอเพ้อคลั่ง และกระสับกระส่าย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีพิษไข้จะระบาดไปตามกระดูกสันหลังและสมองส่วนกลาง ทำให้หลับสนิทติดต่อกันจนเสียชีวิตในที่สุด
องค์การอนามัยโลก (WHO)ประเมินว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50,000-70,000 คนต่อปี และยังมีประชาชนอีกประมาณ 60 ล้านคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แม้ปัจจุบันมียา 2 ขนานใช้รักษาผู้ป่วยโรคนี้แต่มีผลข้างเคียง โดยขนานแรกเป็นยาที่มีพื้นฐานมาจากสารหนู มีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในอัตรา 1 ต่อ 20 คน ส่วนอีกขนานมีราคาแพงและได้ผลน้อย และผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
วันที่:5 เม.ย.53