ซึมเศร้า แบบไหน...เข้าข่ายป่วย
ซึมเศร้า แบบไหน...เข้าข่ายป่วย
ซึมเศร้า แบบไหน...เข้าข่าย ป่วย (Lisa)
"โรคซึมเศร้า" อาจฟังดูเหมือนเป็นอาการป่วยทางจิตเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วมันซับซ้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของโรคที่เกิดได้หลากหลาย หรือความรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายได้ด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ มันอาจเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว หรือมองผ่านไป เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา
แต่เฉพาะในอเมริกา มีคนกว่า 19 ล้านคนมีอาการของโรคซึมเศร้า และเป็นไปได้ว่ามนุษย์แทบทุกคนต้องเคยมีอาการของโรคนี้ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่เราจะแยกอย่างไรกับความรู้สึกเศร้าและโรคซึมเศร้า บางคนสังเกตความรู้สึกของตัวเองและหันเข้าหาความช่วยเหลือจากแพทย์ แต่บางคนก็คิดว่าเดี๋ยวก็คงหายเองโดยไม่ต้องรักษา
ผู้ป่วยร้อยละ 80 ไม่ได้มาพบแพทย์ในเวลาที่สมควร ร้อยละ 60 ไม่เคยเข้ารับการรักษา นี่เป็นเพราะบางคนเชื่อว่าโรคซึมเศร้าหายเองได้ถ้าเราตั้งใจมากพอ ความจริงแล้ว ร้อยละ 54 เชื่อว่าโรคซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอทางจิตใจของแต่ละคนเอง ซึ่งนี่ไม่จริงเลย (อ้างอิงจาก "Am I just sad-or truly depressed?", Dr.Gali Saltz, New York Presbyterian Hospital)
โรคซึมเศร้าคืออะไร?
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ และสังคมแวดล้อม มันไม่ใช่ความเศร้า การเสียใจหลังจากความสูญเสียเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการเมื่อเราสูญเสียอะไรสักอย่าง การรู้สึกเศร้าหลังหย่าร้าง คนใกล้ชิดเสียชีวิต ตกงาน หรือต้องย้ายบ้านกะทันหัน เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลก คุณควรหาคนคุยด้วยหากำลังใจจากคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ความรู้สึกกลายเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นบ่อย ความเศร้าและความวิตกกังวลค่อย ๆ ครอบงำชีวิตคุณมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้ว่าจะทำให้ฟังก์ชั่นของชีวิตเสียหาย และหมดความสุขในการใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้โรคซึมเศร้าสามารถทำได้ และคุณควรจะปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อให้ชีวิตกลับมาดังเดิม
จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าจริงรึเปล่า
ถ้าคุณมีอาการต่อไปนี้ครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป หรือถ้าอาการเหล่านี้ทำให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ คุณก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า
รู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือว่างเปล่าอย่างต่อเนื่อง
นอนน้อยเกินไป (ตื่นเร็วแล้วนอนไม่หลับ) หรือนอนมากเกินไป
ไม่รู้สึกอยากอาหาร หรือกินอาหารเพิ่มขึ้นจนผิดสังเกต
หมดความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ
รู้สึกรำคาญ อยู่ไม่สุข
ไม่สามารถตั้งสมาธิ หรือตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ
รู้สึกอ่อนเพลีย
รู้สึกหมดหวัง ไม่มีคนช่วยเหลือ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า
มีปัญหาทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง
คิดฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าอาจแสดงอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจจะอ่อนเพลีย เชื่องช้า รู้สึกสิ้นหวัง ในขณะที่อีกคนก็อาจจะหงุดหงิดง่ายและขี้รำคาญ
อะไรคือสาเหตุ?
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ การใช้สารเสพติด ตกงาน ปัญหาการเงิน ปัญหาสุขภาพ ภาวะการมีบุตรยาก วัยทอง หรือแม้แต่การรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น อัลไซเมอร์ หรือมะเร็ง โดยผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 70% และมักเริ่มต้นเมื่ออายุราว 32 ปี
เหตุผลดี ๆ ที่คุณควรรักษาโรคซึมเศร้า
1.คุณจะหลับสบายขึ้น โรคซึมเศร้าอาจทำให้คุณนอนไม่หลับหรือตื่นเร็วกว่าปกติ วันต่อมาคุณจะยิ่งอ่อนเพลีย และโรคซึมเศร้าก็จะรุนแรงขึ้นเพราะการที่คุณอดนอนนี่เอง
2.ชีวิตรักดีขึ้น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัวอาจทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง แต่บ่อยครั้ง โรคซึมเศร้านี่แหละเป็นตัวการบ่อนทำลายชีวิตรัก เคยมีการศึกษาชี้ว่าผู้ป่วยกว่า 70% หมดความสนใจทางเพศหากไม่ได้รับยา ทั้งนี้ การรักษาจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย
3.บรรเทาปวด การรักษาโรคซึมเศร้านอกจากจะทำให้คุณรู้สึกดีแล้วยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งการศึกษามากมายชี้ว่าคนที่มีอาการ เช่น ปวดข้อหรือไมเกรน จะรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นหากมีอาการซึมเศร้า
4.ทำงานได้ดีขึ้น เพราะหากคุณเป็นโรคซึมเศร้า คุณอาจไม่มีสมาธิทำงานและทำผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง
5.สมองเฉียบแหลมความจำดีขึ้น โรคซึมเศร้าอาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความจำและการตัดสินใจ แต่ไม่ต้องห่วงไปเพราะอาการเหล่านี้รักษาได้
6.ครอบครัวมีความสุข บ่อยแค่ไหนที่คุณรู้สึกโมโหจนไปลงกับคนรอบข้างแล้วมาเสียใจทีหลัง ซึ่งการรักษาจะช่วยให้คุณมั่นคงขึ้น และลดความตึงเครียดในครอบครัว
ผลการสำรวจจาก National Mental Health Association เผยว่า ผู้หญิงร้อยละ 41 รู้สึกอายที่จะต้องรับการรักษาทางจิต สิ่งที่คุณควรทราบก็คือ โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความผิดของคุณ แต่ถ้าไม่รักษามันอาจอันตรายถึงชีวิต เพราะจากการศึกษาเดียวกันนี้ ร้อยละ 15 ของผู้ป่วยลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย หากคุณสงสัยว่าคนที่คุณรักหรือตัวคุณเองมีอาการดังกล่าว ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
ที่มา
และ www.kapook.com