ปรับพฤติกรรมลดเสี่ยงใหลตาย
ปรับพฤติกรรมลดเสี่ยงใหลตาย
ปรับพฤติกรรมลดเสี่ยง"ใหลตาย" (ไทยโพสต์)
การเสียชีวิตในขณะนอนหลับ (Brugada syndrome) หรือชื่อที่คนไทยคุ้นหูว่า "โรคใหลตาย" โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น สามารถเป็นได้ทั้งหญิงและชาย แต่เพศชายจะเสียชีวิตมากกว่า
นพ.กัมปนาท วีรกุล อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ผู้ร่วมวิจัย กับ นพ.กุลวี เนตรมณี เกี่ยวกับโรคใหลตาย เปิดเผยว่า การเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหลตาย เกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous Ventricular Fibrillation, VF) ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนกะทันหัน เป็นผลให้กล้ามเนื้อตามตัว แขน ขา เกิดอาการเกร็งและหายใจเสียงดัง จากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายจะมีอุจจาระ ปัสสาวะราดจากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้า ริมฝีปากเขียวคล้ำ และเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว หากไม่ได้รับการกู้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพ และจากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคใหลตายที่รอดชีวิต ร้อยละ 90 มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และมีลักษณะเฉพาะ คือ มีการยกตัวของคลื่น ST เหมือนกับที่คนไข้ที่เสียชีวิตกะทันหันในยุโรป
วิธีเดียวที่จะป้องกันโรคใหลตาย คือ ปลูกฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (ICD) ส่วนการรับประทานยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นไม่มีผลในการช่วยชีวิตแต่อย่างใด เพราะการใช้ไฟฟ้ากระตุกหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อหยุด VF โดยเร็วที่สุด ในบางครั้ง VF อาจหยุดเองได้และผู้ป่วยจะรอดตายได้เช่นกัน แต่ก็อาจจะเกิดสมองพิการถาวรหากขาดออกซิเจนนาน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการตรวจหัวใจไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อและหลอดเลือดอย่างละเอียดจะให้ผลปกติ แต่กลับพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สามารถกระตุ้นการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัว (ventricular fibrillation, VF) ได้โดยง่าย
"คลื่นไฟฟ้าหัวใจดังกล่าวอาจกลับเป็นปกติได้ แต่จะสามารถตรวจพบด้วยการวางตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือใช้ยาบางชนิด"
นอกจากนี้การวิจัยยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยร้อยละ 30 ของครอบครัวผู้ป่วยใหลตายในไทย และ Pokkuri ในญี่ปุ่นมีความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรม (gene) จริง มีผลให้การควบคุมประจุไฟฟ้าโซเดียมในระดับเซลล์ลดลง หรือไม่ทำงาน จึงเกิดการเต้นระริกขึ้นได้
สำหรับแนวทางการรักษา คุณหมอเผยว่า เนื่องจากการฝังเครื่อง ICD นั้นไม่ได้เป็นการรักษาโรค เพียงแต่ป้องกันการเสียชีวิต และยังมีราคาแพง (300,000 บาท/เครื่อง) และจะต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เมื่อแบตเตอรี่หมด (เครื่องจะมีอายุการใช้งานประมาณ 5-7 ปี) คณะผู้วิจัยพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่ยังมีการเกิด VF ซ้ำจนเครื่อง Shock บ่อย เป็นผลให้อายุของแบตเตอรี่ลดลง ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยจึงเกิดปัญหา เมื่อไม่สามารถหาเครื่องใหม่ทดแทนด้วยกำลังทรัพย์ของตนเองได้
ด้าน นพ.กุลวี เนตรมณี และคณะผู้วิจัย พบว่า ตำแหน่งของจุดกำเนิดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัว (VF) ในผู้ป่วยใหลตาย (Brugada syndrome) อยู่ที่ตอนบนของบริเวณผิวนอกของผนังหัวใจด้านขวาล่าง ซึ่งการใช้พลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุ จี้ทำลายจุดกำเนิดดังกล่าว อาจเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาที่สามารถป้องกันการเสียชีวิตจากการเกิด VF ซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้
อย่างไรก็ตามคุณหมอแนะนำว่า การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นซึ่งทำให้เกิดโรคนี้ เช่น การงดรับประทานอาหารหมักดอง ดื่มเหล้า-เบียร์ สูบบุหรี่ รวมทั้งน้ำปลา ขณะเดียวกันการทำจิตใจให้สดใสแข็งแรง ปราศจากความเครียด ก็มีส่วนป้องกันโรคใหลตายได้ทางหนึ่ง
ที่มา www.kapook.com