"ท้องอืดท้องเฟ้อ" ต้นตอโรคระบบทางเดินอาหาร
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงานและกลุ่มคนวัยเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะปัจจัยเรื่องความเครียด พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือรับประทานอาหารด้วยความเร่งรีบ เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ อาทิ แอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารไขมันสูง รับประทานอาหารอิ่มแล้วนอนในทันที รับประทานอิ่มเกินไป หรือแม้แต่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร เพราะเป็นการกลืนอากาศเข้าไปพร้อมอาหาร จนส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าวิตกในการดำเนินชีวิตและการดูแลสุขภาพ
สาเหตุและอาการ
ส่วนใหญ่ คือ อาการอึดอัด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ บริเวณลิ้นปี่หรือเหนือสะดือ อาการเหล่านี้ทางการแพทย์ใช้คำแทนว่า อาการดิสเปปเซีย (Dyspepsia) จากการสำรวจข้อมูลประชากรจำนวน 23,676 คน ใน 5 ประเทศของยุโรป พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอาการเหล่านี้ถึงร้อยละ 32% (7,576 คน) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบร้อยละ 25 และสำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากสมาคมโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ว่าคนไทยประสบกับอาการนี้ถึงร้อยละ 20-25 และเป็นอาการที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งในคลินิกทางเดินอาหาร โดยพบได้ทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงอายุ ช่วงที่พบบ่อยมากคือ อายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารที่เสื่อมลงตามวัย
แบ่งกลุ่มโรคออกเป็น 2 ชนิด
1.กลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพชัดเจนในกระเพราะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือ "ออแกนิก ดิสเปปเซีย" (organic dyspepsia) เช่น กระเพาะอาหารอักเสบรุนแรง มีแผล มีเชื้อโรคซ่อนอยู่ เนื้องอกในกระเพราะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
2.กลุ่มผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบโรคดังกล่าวด้วยวิธีส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน หรือ "ฟังชันนอล ดิสเปปเซีย - เอฟดี" (Functional dyspepsia - FD) โดยอาการชนิดนี้ เกิดจากการที่กระเพราะอาหารหรือลำไส้เล็กทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งพบเป็นส่วนมากในผู้ป่วยที่มีอาการดิสเปปเซีย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ อาทิ กระเพาะบีบตัวไม่ได้ บีบตัวช้า กระเพาะไวต่ออาหารบางชนิดเช่น อาหารรสจัด ล้วนส่งผลให้การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนตัวของอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเป็นไปด้วยความลำบาก เกิดการสะสมของฟองอากาศหรอแก๊สในกระเพาะอาหารและ ลำไส้ ทำให้อึดอัด แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ
อาการในกลุ่มฟังชันนอล ดิสเปปเซียนั้นไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่จะรบกวนคุณภาพชีวิตได้ ซึ่งผู้ที่มีอาการ จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนี้ ควบคู่ไปกับการรับประทานยารักษาอาการ ซึ่งยารักษาอาการในกลุ่มฟังชันนอล ดิสเปปเซียมีอยู่หลายชนิด อาทิยาลดแก๊สหรือฟองอากาศที่อยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่มีตัวยา "ไวเมทิโคน" (Simethicone) เช่น ยาแอร์เอ็กซ์ ที่สามารถช่วยลดแรงตึงผิวของฟองอากาศหรือแก๊สในทางเดินอาหาร ทำให้ฟองอากาศเล็กๆ รวมตัวกันง่าย และถูกขับออกจากร่างกายทางปากหรือทางทวารหนักได้ดีขึ้น ทำให้ทางเดินอาหารทำงานได้อย่างเต็มที่ อาการอึดอัดแน่นท้อง ท้องอืดเฟ้อ ก็จะดีขึ้นตามลำดับ โดยที่ตัวยาจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไม่มีปฏิกิริยาต่อยาอื่นๆ ที่รับประทานร่วมกัน อย่างเช่น ยาลดกรดที่กระตุ้นการบีบตัวกระเพาะอาหาร เป็นต้น
อาการท้องอืดนั้น เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย เพื่อให้ห่างไกลจากอาการเหล่านี้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่รับประทานอิ่มจนเกินไป ไม่พูดคุยขณะรับประทานอาหาร หลังจากรับประทานอาหารก็ไม่คารนอนทันที และควรรักษาสมดุลการทำงานไม่ให้ตนเองตกอยู่ในภาวะเครียด พร้อมออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างพอดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก