สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทย
บุหรี่ ในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 หมายถึง ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง ไม่ว่าจะมีใบยาแห้งหรือยาอัดเจือปนหรือไม่ ซึ่งมวนด้วยกระดาษหรือวัตถุที่ทำขึ้นใช้แทนกระดาษหรือใบยาแห้งหรือยาอัด
โรคที่เกิดจาการสูบบุหรี่
1 . โรคมะเร็ง ในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งที่ปาก ที่ลิ้น ที่กล่องเสียง แต่ที่เป็นมากที่สุดคือ มะเร็งปอด สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา และกระทรวงสาธารณสุขแห่งสหรัฐอเมริกาได้รายงานผลวิจัย เมื่อ พ.ศ. 2521 ว่าผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีโอกาสตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 20 เท่า
2 . โรคทางเดินหายใจ ผู้สูบบุหรี่จัดมีอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอถี่มากจนไม่สามารถหลับนอนได้ แต่เมื่อหยุดสูบอาการจะบรรเทาและหายไปในที่สุด นอกจากนี้ทาร์ในควันบุหรี่จะสะสมอยู่ในปอด วันละเล็กวันละน้อย จนในที่สุด ถุงลมปอดโป่งพองจนไม่สามารถหดตัวกลับได้ มีผลทำให้ปอดไม่สามารถแรกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้มากเท่าเดิม จึงทำให้หายใจขัด หอบ และหากเป็นเรื้อรังอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ง่ายเช่นเดียวกันนอกจากนี้ยังพบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เป็นโรคอื่นได้อีกหลายอย่าง เช่น โรคกระเพาะอาหารเป็นแผล โรคความดันเลือดสูง โรคตับแข็ง โรคปริทนต์ โรคโพรงกระดูกอักเสบ เป็นต้น และยังส่งผลต่อบุคลิกภาพของผู้สูบบุหรี่อีกด้วย
สถิติการสูบบุหรี่ของคนไทย
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการสำรวจ การสูบบุหรี่ของคนไทยทั้งประเทศครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2519 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่จำนวน ทั้งสิ้น 8.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30.1 จากการสำรวจใน พ.ศ. 2544 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน ทั้งสิ้น 10.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.6 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 11 ปี
พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย
ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ปี 2554 พบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 53.9 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 21.4 โดยเป็นผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ 9.9 ล้านคน(ร้อยละ 18.4) และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่นานๆ ครั้ง 1.6 ล้านคน (ร้อยละ 2.9) โดยอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า คือร้อยละ 41.7 และ 2.1 ตามลำดับ เป็นผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาลมากกว่าในเขตเทศบาล 1.4 เท่า คือ ร้อยละ 23.5 และ 17.3 ตามลำดับ ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 ตาราง จำนวนและร้อยละของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สูบบุหรี่ จำแนกตามเพศ เขตการปกครองและอัตราการสูบบุหรี่ พ.ศ. 2554
ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ในช่วงปี 2544-2552 พบว่าอัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง แต่ในปี2554 มีอัตราการสูบเพิ่มขึ้นจากปี 2552 คือจากร้อยละ 18.1 เป็นร้อยละ 18.4 โดยเพิ่มขึ้นในผู้ชายจากร้อยละ 35.5 เป็น 36.1 ส่วนผู้หญิงอัตราการสูบยังคงที่ ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 แผนภูมิเปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จำแนกตามเพศ พ.ศ. 2544-2554
ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
จากผลการสำรวจในปี 2554 พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ 17.9 ปี โดยมีอายุน้อยลง เมื่อเทียบกับปี 2550 (18.5ปี) และพบว่าทุกกลุ่มวัยมีอายุเริ่มสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน(15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลงค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น คือจากปี 2550 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่อายุเกือบ 17 ปี และในปี 2554 ลดลงเป็น 16.2 ปี ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 แผนภูมิเปรียบเทียบอายุเฉลี่ยที่เริ่มสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จำแนกตามกลุ่มวัย พ.ศ. 2544-2554
ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ที่ปัจจุบันไม่สูบบุหรี่แต่ในอดีตเคยสูบเป็นประจำ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เลิกสูบมากที่สุดเพราะ พบว่า ไม่ดีเลยตัดสินใจเลิกเอง (ร้อยละ 34.2) รองลงมา คือป่วย/เป็นโรคแล้วแพทย์แนะนำ ให้งดสูบบุหรี่ (ร้อยละ 28.2) และสามี/ภรรยา/ลูก ขอร้อง(ร้อยละ 14.8) ตามลำดับ ผู้ชายเลิกสูบบุหรี่มีสาเหตุเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ในขณะที่ผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่เพราะพบว่าไม่ดีเลยตัดสินใจเลิกเองมากที่สุด (ร้อยละ 37.3) ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 แผนภูมิร้อยละของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เคยสูบบุหรี่เป็นประจำ จำแนกตามสาเหตุสำคัญที่เลิกสูบบุหรี่ และเพศ พ.ศ. 2554
|
ที่มา : สรุปการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการเริ่มสูบบุหรี่
- ความอยากลอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่ความอยากลองเป็นเรื่องที่ท้าทาย น่าตื่นเต้น และสนุกสนาน ถึงแม้จะทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็ตาม
- ตามอย่างเพื่อน เริ่มสูบบุหรี่เพราะเพื่อนชวน บางคนมีเจตคติที่ว่า ถ้าไม่สูบบุหรี่จะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพื่อนจะไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม และหลายคนไม่กล้าเลิกสูบบุหรี่ เพราะกลัวเพื่อนจะล้อเลียน และไม่ให้เข้ากลุ่ม
- ยึดถือค่านิยมผิด ๆ คิดว่าการสูบบุหรี่เป็นการโก้เก๋ หรือเป็นลูกผู้ชาย
- สภาพแวดล้อมภายในครอบครัวชักนำ เกิดจากสมาชิกบางคนในครอบครัวสูบบุหรี่ เช่น พ่อ แม่ ลุง น้า จึงต้องการเอาเยี่ยงอย่าง
- เพื่อเข้าสังคม บางคนต้องสูบบุหรี่เพราะหน้าที่การงานที่ต้องเข้าสังคม งานเลี้ยงสังสรรค์หรืองานเลี้ยงรับรอง
- กระแสของสื่อโฆษณา สื่อโฆษณาต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมล้วนมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตคนอย่างมาก
- ความเชื้อที่ผิดๆ เช่น เชื่อว่าเมื่อสูบบุหรี่จะทำให้สมองปลอดโปร่ง จิตใจแจ่มใสและไม่ง่วงนอน เป็นต้น
- ความเครียด สารนิโคตินในควันบุหรี่เมื่อสูดเข้าร่างกายจะเข้าสู่สมองภายในเวลา ๘-๑๐ วินาที ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดแดงหดรัดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจเร็วขึ้น และกระตุ้นสมองส่วนกลางทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ในระยะต้น หลายคนจึงสูบบุหรี่ด้วยเหตุผลเพื่อคลายความเครียด แต่เมื่อปริมาณนิโคตินในสมองลดลง จะทำให้ผู้สูบเกิดอาการหงุดหงิด และเครียดได้ในเวลาต่อมา และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ต้องสูบบุหรี่อยู่เสมอเพื่อคงระดับนิโคตินไว้ในร่างกาย
ข้อดีของการเลิกบุหรี่
1. สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
2. อายุยืน
3. การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
4. การทำงานของประสาทในการรับรส และกลิ่นดีขึ้น
5. อาการไอ และเสมหะลดลง
6. สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น
7. ปอดทำงานได้ดีขึ้น
8. ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น
วิธีการเลิกสูบบุหรี่
1. จัดการดูแลตัวเอง
2. ทำจิตใจให้เข้มแข็ง
3. ทิ้งทั้งบุหรี่และที่เขี่ยบุหรี่ไปให้พ้น ๆ สายตา
4. อยู่ให้ห่างจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ของคุณ
5. หากิจกรรมทำ
6. ห้ามใจอ่อนกับตัวเองเป็นอันขาด!!
7. คอยย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
8. อย่าละเลยแม้เพียงเล็กน้อย
ที่มา : สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสุขภาพ